รัฐจัดให้ "แหล่งทุนกู้ยืมฉุกเฉินดอกเบี้ยต่ำ" ช่วงเปิดเทอม
นายกฯ ห่วงใยปัญหาสภาพคล่องผู้มีรายได้น้อยช่วงใกล้เปิดเทอม ย้ำรัฐมีแหล่งทุนเป็นทางเลือกหลากหลาย เตือนอย่านำความเดือดร้อนประชาชนเชื่อมโยงการเมือง แนะคนไทยสร้างวินัยการออม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่มีปัญหาสภาพคล่องช่วงใกล้เปิดเทอมว่า รัฐบาลห่วงใยและมีทางเลือกให้ประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายฉุกเฉิน เช่น ค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างหลากหลาย โดยไม่ต้องไปใช้บริการสินเชื่อนอกระบบ
ทั้งโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินของ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน รายละไม่เกิน 50,000 บาท โครงการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) รายละไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งมีประชาชนไปใช้บริการอย่างต่อเนื่อง และยังให้สถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศเตรียมเงินให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดภาระผู้ปกครอง ในระหว่างวันที่ 1 เม.ย.– 31 พ.ค. 61 โดยหากเงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท จะคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.25 ต่อเดือน ส่วนเงินต้นเกินกว่า 5,000 บาท จะคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน
อ่านประกอบ ไฟเขียว "แบงก์ออมสิน"-"ธ.ก.ส." ปล่อยกู้ฉุกเฉินรายละ 50,000 บาท ดอกเบี้ยต่ำ
นายกรัฐมนตรี ยังให้ความสนใจข่าวที่เกษตรกรนำหัวรถไถไปจำนำที่โรงรับจำนำของเทศบาลเมืองชุมแสง จ.นครสวรรค์ และมีคนฉวยโอกาสนำไปอ้างว่า รัฐบาลบริหารงานไม่ดีจึงทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ โดยนายกฯ ไม่อยากให้นำความเดือดร้อนของประชาชนไปเชื่อมโยงกับประเด็นการเมือง หากจะวิพากษ์วิจารณ์ก็ขอให้อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง
“การนำทรัพย์สินไปจำนำถือเป็นทางเลือกหนึ่งของประชาชนที่ต้องการใช้เงินฉุกเฉิน ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว และช่วงใกล้เปิดเทอมจะมีปริมาณการใช้บริการมาก ถือเป็นเรื่องปกติ และยังขึ้นอยู่กับความต้องการในแต่ละช่วงด้วย เช่น หลังเกิดเหตุน้ำท่วม เกษตรกรก็จะนำหัวรถไถไปจำนำกันมาก เป็นต้น ส่วนภาพที่เห็นว่าขณะนี้มีหัวรถไถถูกนำไปจำนำเป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากโรงรับจำนำของพื้นที่ใกล้เคียงใน อ.บางมูลนาก และตะพานหิน จ.พิจิตร ไม่ได้รับจำนำอุปกรณ์ทางเกษตร เพราะเป็นอุปกรณ์ขนาดใหญ่ เกษตรกรจึงต้องนำไปจำนำที่ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ทอง นาก เพชร และเครื่องรูปพรรณ เงินรูปพรรณ นาฬิกาข้อมือ เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ เป็นทรัพย์สินที่มีการนำไปจำนำมากที่สุดตามลำดับ ส่วนเครื่องมืออุปกรณ์ทางการเกษตรมีจำนวนน้อยที่สุด และมีปริมาณการจำนำใกล้เคียงกับทุกปี อีกทั้งรัฐบาลชุดนี้ได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรนำอุปกรณ์ทางการเกษตรไปจำนำได้ เพิ่มเติมจากทรัพย์สินประเภทอื่น อย่างไรก็ตาม นายกฯ อยากให้คนไทยทุกคนสร้างวินัยการออมเพื่ออนาคตในระยะยาวด้วย