"ดอยช์แบงก์" จ่อปลดพนักงาน 7,000 คนทั่วโลก
ธนาคารใหญ่ของเยอรมนีประกาศปรับโครงสร้างองค์กร เล็งแก้ปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง ปลดพนักงาน 7,000 คนทั่วโลก แจงลดภาระงานในเอเชีย-สหรัฐฯ กลับไปทุ่มเทให้ตลาดยุโรปแทน
คริสเตียน โซวิง ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ธนาคารดอยช์แบงก์ หรือ DB สำนักงานใหญ่ แถลงว่า จะปลดพนักงานทั่วโลกประมาณ 7,000 ตำแหน่ง เป็นผลจากที่ดอยช์แบงก์ขาดทุนติดต่อกันกว่า 4 ปี
โดยโซวิงระบุว่า จะต้องปรับลดธุรกิจตลาดทุนและตราสารหนี้ในเอเชียและสหรัฐฯ เพื่อที่จะกลับไปดูแลลูกค้าในกลุ่มประเทศยุโรป
ซีเอ็นเอ็นมันนี่ รายงานว่า แผนปรับโครงสร้างองค์กรเกิดขึ้นในช่วง 1 เดือนหลังจากที่โซวิงเข้ารับตำแหน่งแทนจอห์น ไครอัน อดีตซีอีโอดอยช์แบงก์คนก่อนหน้า และพนักงานที่ถูกปลดจะคิดเป็นร้อยละ 7 ของจำนวนพนักงาน 97,000 คนที่กระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ แต่โซวิงยืนยันว่าดอยช์แบงก์ยังคงทุ่มเทในการดูแลและบริการกลุ่มลูกค้าทั่วโลกตามเดิม แต่จะมุ่งเน้นเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศแถบยุโรปที่กิจการยังไปได้ดี
ขณะที่นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า คำแถลงของโซวิงเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการประชุมประจำปีของดอยช์แบงก์ที่นครแฟรงก์เฟิร์ตของเยอรมนีเพียงไม่กี่ชั่วโมง และคาดว่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมภายหลังจากการประชุมดังกล่าวสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ ดอยช์แบงก์เริ่มส่งสัญญาณว่ากำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาช่วงปี 2550-2551 ซึ่งรู้จักกันในนาม 'วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์' หรือ 'วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์' โดยดอยช์แบงก์ถูกรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ฟ้องร้อง ข้อหาปล่อยสินเชื่อด้อยคุณภาพในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่แตก กระทบกับความคล่องตัวของตลาดสินเชื่อในภูมิภาคและทั่วโลก ทำให้ดอยช์แบงก์ต้องจ่ายเงินค่าปรับให้สหรัฐฯ เป็นเงินกว่า 72,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.37 ล้านล้านบาท)
ในส่วนของธนาคารดอยช์แบงก์ ประเทศไทย เริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2521 โดยได้เปิดธนาคารดอยช์แบงก์สาขากรุงเทพฯ ปัจจุบันมีพนักงานประมาณ 130 คน