"ซีอีโอ ปตท." ยืนยันไม่ชอบราคาน้ำมันสูง เพราะทำประชาชนและประเทศเดือดร้อน
ซีอีโอ ปตท. ย้ำราคาน้ำมันขึ้น-ลงตามกำลังการผลิตและการเมืองระหว่างประเทศ
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีผู้ส่งข้อความที่ไม่เป็นความจริงทั้งเรื่องอ้างคำกล่าวของตน ไม่ง้อคนไทยใช้น้ำมัน ปตท. รวมถึงเรื่องการเลิกจ้างพนักงานหลายพันคนนั้น เรื่องนี้ตนยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง และกำลังให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินคดีกับผู้ไม่หวังดีที่ส่งผ่านข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าว
"การดำเนินคดีไม่ได้ทำด้วยความเจ็บแค้น แต่ต้องการย้ำว่าการส่งข้อมูลเท็จในโซเชียลมีเดียที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว คนที่ส่งต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะคนที่ตั้งใจเผยแพร่ข้อมูลเท็จ สร้างความเสียหายให้สังคม ต้องได้รับการลงโทษ เพื่อให้สังคมไทยมีวินัยในการส่งข้อมูล ส่วนคนที่ไม่ได้ตั้งใจ ก็ไม่ได้ต้องการไปทำร้ายหรือทำลาย" นายเทวินทร์ กล่าว
พร้อมกันนี้ ได้ชี้แจงถึงกรณีราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับตัวขึ้นมาในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา เกิดจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 อีกทั้งต้นทุนน้ำมันขายปลีก เกิดจากราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น บวกกับภาษี รวมเงินกองทุน และค่าการตลาด ซึ่งราคาขายปลีกน้ำมันของไทยอ้างอิงจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ตลาดสิงคโปร์ ส่วนสิงคโปร์ก็อ้างอิงราคาจากตลาดดูไบ และที่ผ่านมา ถ้าราคาน้ำมันดิบดูไบเปลี่ยนแปลง 1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะมีผลต่อราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศราว 24 สตางค์ต่อลิตร
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา (25 พ.ค.) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลง 1.20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จึงมีผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ลดลงได้ประมาณ 30 สตางค์ต่อลิตร และ ปตท. จึงตัดสินใจประกาศลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซล มีผลเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ลงมา 50 สตางค์ต่อลิตร เพื่อสะท้อนต้นทุนที่ลดลง และเพื่อบรรเทาภาระผู้บริโภค หลังจากนั้นจึงเห็นปั๊มอื่นๆ ลดราคาตามมา
"ช่วง 1-2 ปีก่อน ที่ราคาน้ำมันดิบโลกลดลงจาก 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 20-30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปตท. ได้รับผลกระทบมาก แต่ตอนนั้น เราก็ไม่เคยคิดจะลดพนักงาน เพราะยังต้องการดูแลคน ปตท. เหมือนคนในครอบครัว" นายเทวินทร์ อธิบาย
นอกจากนี้ ยังประเมินว่า ทิศทางราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์มีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลก เนื่องจากมีสัญญาจากกลุ่มประเทศโอเปก และนอน-โอเปก ที่จะเพิ่มกำลังการผลิต อย่างไรก็ตาม ทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง เมื่อพิจารณาย้อนหลังจะพบว่า ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ปตท. ประเมินราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยปี 2561 ไว้ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่เวลาผ่านไปกลับเพิ่มขึ้นเป็น 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงสหรัฐอเมริกาประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงกับอิหร่าน และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น
ดังนั้น เรื่องราคาน้ำมันจึงต้องดูทั้งปัจจัยด้านเทคนิค คือ การเพิ่มหรือลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก และนอนโอเปก ซึ่งพอทำให้คาดการณ์ราคาน้ำมันได้ แต่อีกด้านหนึ่งยังมีปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งคาดเดายากด้วย
"แม้ ปตท.จะเป็นบริษัทน้ำมัน แต่เราไม่อยากเห็นราคาน้ำมันสูง เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงาน นำเข้าน้ำมันดิบกว่าร้อยละ 80 ถ้าราคาน้ำมันสูง ประเทศไทยเดือดร้อน คนไทยเดือดร้อน ปตท. ซึ่งดูแลเรื่องความมั่นคง (ด้านพลังงาน) เดือดร้อน และเราไม่ต้องการอย่างนั้น มันเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา" นายเทวินทร์ ย้ำ
ดังนั้น หน้าที่ ปตท. คือต้องทำราคาให้อยู่ในระดับเหมาะสมที่ผู้บริโภคไม่เดือดร้อนจนเกินไป ขณะที่ผู้ประกอบการสามารถเดินหน้าพัฒนา สำรวจ และผลิตน้ำมันมาให้ผู้บริโภคได้
ส่วนกระแสโซเซียลมีเดียที่เกิดขึ้น จะกระทบกับปั๊มน้ำมันในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นคู่ค้า เป็นดีลเลอร์ของ ปตท. หรือไม่ นายเทวินทร์ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่ออกมาตักเตือนผู้ส่งข้อความเท็จ เพราะห่วงดีลเลอร์ หรือผู้ประกอบการรายย่อย เจ้าของธุรกิจปั๊มน้ำมันในพื้นที่ต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ โดยปัจจุบัน ปตท. มีปั๊มน้ำมันประมาณ 1,500 แห่ง ในจำนวนนี้ร้อยละ 90 เป็นปั๊มของดีลเลอร์