"หอการค้าไทย" คาดเงินสะพัดบอลโลก 78,000 ล้านบาท
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายช่วงฟุตบอลโลก 2018 คาดมีเงินสะพัด 78,386 ล้านบาท ลดลงจากเทศกาลบอลโลก 4 ปีก่อน ร้อยละ 54 ส่วนเงินที่ใช้เล่นพนันบอลตลอดการแข่งขันเฉลี่ย 5,872.50 บาท มากกว่าครึ่งมีวงเงินเดิมพัน 1,001-5,000 บาท
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงฟุตบอลโลก 2018 โดยคาดการณ์ว่าในช่วงฟุตบอลโลกจะมีเงินสะพัด 78,385.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับเทศกาลบอลยูโร 2016 ที่มีเงินสะพัด 76,541.15 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 54 เมื่อเทียบกับเทศกาลบอลโลก 2014 ที่มีเงินสะพัด 95,154 ล้านบาท
สำหรับบอลโลก 2018 คาดว่าจะมีการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ 17,901.75 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับเทศกาลบอลยูโร 2016 ส่วนการใช้จ่ายนอกระบบเศรษฐกิจ (พนันบอล) คาดจะมีเงินสะพัด 58,995.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับเทศกาลบอลยูโร 2016 โดยคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปี 61 ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีก 0.2-0.3%
ทั้งนี้ จากการสำรวจคาดว่า คู่ชิงชนะเลิศอันดับ 1 คือ บราซิลกับเยอรมนี อันดับ 2 คือ อังกฤษกับสเปน อันดับ 3 คือ สเปนกับเยอรมนี และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.7 คาดว่า เยอรมนีจะเป็นแชมป์ รองลงมาคือร้อยละ 12.8 ที่คาดว่าอังกฤษจะเป็นแชมป์
Getty
ขณะที่ พฤติกรรมการเล่นพนันบอลจากผลสำรวจ พบว่า ร้อยละ 57.7 ไม่เล่น ร้อยละ 34.2 เล่นเฉพาะทีมที่ชอบ ร้อยละ 6.6 เล่นบางนัด และร้อยละ 1.5 เล่นทุกนัด
สำหรับจำนวนเงินที่ใช้เล่นพนันบอลโดยเฉลี่ย 5,872.50 บาท ต่อการเล่นพนันบอลตลอดการแข่งขัน และใช้เงินเฉลี่ยประมาณ 2,065.56 บาทต่อการพนันในนัดที่เล่น โดยคาดว่าจะได้รับเงินต่อนัดที่ประมาณ 6,569.12 บาท
ซึ่งมีผู้เล่นพนันบอลวางเงินเดิมพันระดับ 1,001-5,000 บาท ตลอดการแข่งขัน (1 เดือน) สัดส่วนร้อยละ 56.8
ตามมาด้วยเงินเดิมพันระดับ 501-1,000 บาท ร้อยละ 15
เงินพนัน 101-500 บาท ร้อยละ 13.4
เงินเดิมพัน 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 10.9
เงินเดิมพัน 10,001-50,000 บาท ร้อยละ 3.2
ต่ำกว่า 100 บาท ร้อยละ 0.4
และมากกว่า 50,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 0.3
Getty
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 30.4 ระบุว่า ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับฟุตบอลโลก 2018 น้อย
ร้อยละ 29.4 ติดตามปานกลาง
ร้อยละ 21.3 ติดตามมาก
ร้อยละ 12 ติดตามน้อยที่สุด
ร้อยละ 6.4 ติดตามมาก และ
ร้อยละ 0.5 ไม่ติดตามเลย
ส่วนช่องทางการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับฟุตบอลโลก ร้อยละ 65.3 ติดตามผ่านอินเทอร์เน็ต ประกอบด้วย ร้อยละ 17.5 ดูผ่านคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ร้อยละ 17.1 ดูผ่านโน๊ตบุ๊ก ร้อยละ 16.3 ดูผ่านโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 14.4 ดูผ่านแทบเล็ต
ขณะที่ร้อยละ 22.7 ดูผ่านโทรทัศน์ และร้อยละ 12 ติดตามข่าวสารผ่านวิทยุ