เตรียมแจก "บัตรแมงมุม" 2 แสนใบ-"บีทีเอส" เปลี่ยนบัตรเที่ยวเดียวเป็นสมาร์ทการ์ด
เริ่มมีความคืบหน้าในการพยายามเชื่อมโยงการใช้บัตรโดยสารใบเดียวให้สามารถใช้เดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะในบ้านเรา
รฟม. เตรียมแจก "บัตรแมงมุม" 2 แสนใบ เริ่มรับวันแรก 23 มิ.ย.นี้ ที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงเท่านั้น
วันที่ 23 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะแจกบัตรโดยสารร่วม หรือ บัตรแมงมุม จำนวน 200,000 ใบ ให้กับประชาชนทั่วไป จำนวน 1 คน ต่อ 1 ใบ ผ่านช่องทางขายตั๋วเดินทางบริเวณสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยจะต้องเติมเงินขั้นต่ำ 150 บาท และมีมูลค่าเงินในบัตร 100 บาท ส่วน 50 บาทจะเป็นค่ามัดจำบัตร
>> เตรียมแจก "บัตรแมงมุม" 2 แสนใบ 23 มิ.ย.นี้ แต่ใช้ได้แค่สายสีน้ำเงิน-ม่วง
ทั้งนี้ ในระยะแรกนั้นบัตรแมงมุมจะใช้ได้เพียงเฉพาะรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) สายสีม่วง และสายสีน้ำเงินเท่านั้น พอถึงเดือน ต.ค. 61 จึงจะสามารถใช้บัตรแมงมุมได้กับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) และรถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้
รฟม.
สำหรับบัตรแมงมุมแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- บัตรบุคคลทั่วไป สีน้ำเงิน
- บัตรผู้สูงอายุ สีทอง และ
- บัตรนักเรียน/นักศึกษา สีเทา
แม้วัตถุประสงค์ในการใช้ตั๋วร่วมนั้นจะเพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้โดยสารก็ตาม แต่บัตรเเมงมุมจะยังไม่สามารถใช้ขึ้นรถไฟฟ้า BTS ได้ เเละยังไม่ทราบแน่ชัดว่าบัตรแมงมุมจะใช้ร่วมกับ BTS ได้เมื่อใด
ส่วนผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจน ในช่วงระหว่างวันที่ 6 ก.ค. – 30 ก.ย. 61 รฟม.จะเปิดให้ลงทะเบียนขอรับสิทธิใช้รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ฟรี และจะสามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้ตามยอดวงเงินในบัตร 500 บาทต่อเดือนตั้งแต่ 20 ก.ค. 61 เป็นต้นไป
บีทีเอส เปลี่ยนบัตรเที่ยวเดียวเป็น "สมาร์ทการ์ด"
บีทีเอส เตรียมเปลี่ยนบัตรโดยสารเที่ยวเดียวจาก บัตรแม่เหล็ก เป็น สมาร์ทการ์ดชนิดบาง พร้อมเปลี่ยนตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารอัตโนมัติเป็นจอสัมผัส 200 ตู้ ติดตั้งตู้จำหน่ายตั๋วที่มีช่องรับธนบัตรเพิ่มอีก 50 ตู้ เริ่ม มิ.ย.นี้
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ จะเปลี่ยนบัตรโดยสารประเภทเที่ยวเดียวจากบัตรแถบแม่เหล็ก เป็น บัตรสมาร์ทการ์ดชนิดบาง (Thin Card) ที่มีความบางมากกว่าบัตรแรบบิทการ์ดหรือบัตรทั่วไป เพื่อเปลี่ยนเป็นบัตรที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยยิ่งขึ้น
พร้อมกับรองรับการใช้งานในส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงสำโรง-สมุทรปราการ ซึ่งจะเปิดให้บริการประมาณปลายปี 2561 นี้ และเตรียมไว้สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - คูคต รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง
โดยการเปลี่ยนระบบบัตรโดยสารเที่ยวเดียวนี้ บริษัทฯ จะเปลี่ยนตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารอัตโนมัติทั้งหมดให้เป็นแบบจอสัมผัส (Touch Screen) รวมประมาณ 200 ตู้ และติดตั้งตู้จำหน่ายตั๋วที่มีช่องรับธนบัตรเพิ่มอีก 50 ตู้ เพื่อติดตั้งตามสถานีต่างๆ ในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส พร้อมกันไปด้วย ซึ่งจะเริ่มทยอยเปลี่ยนตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2561 ใน 8 สถานีแรก คือ สยาม ช่องนนทรี กรุงธนบุรี วงเวียนใหญ่ ตลาดพลู บางหว้า อุดมสุข และแบริ่ง จากนั้นจะขยายไปจนครบทุกสถานี โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 2561 รวมระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน
"การเปลี่ยนระบบนี้ จะทำให้ตู้จำหน่ายตั๋วและประตูอัตโนมัติเข้า-ออกสถานี ที่กำลังเปลี่ยน ไม่สามารถใช้ตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวแบบแถบแม่เหล็กรวมทั้งบัตรโดยสารประเภท 1 วันได้ แต่ยังคงใช้บัตรแรบบิทได้" นายสุรพงษ์ ระบุ
บีทีเอส
บีทีเอส
ดังนั้นบริษัทฯ จึงได้จัดทำแผนทยอยสลับเปลี่ยนไปตามสถานีต่างๆ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับผู้โดยสารน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ก็ต้องขออภัยในความไม่สะดวกที่จะเกิดขึ้นในช่วงของการปรับเปลี่ยนระบบบัตรโดยสารบ้าง
ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการใช้งานร่วมกับระบบขนส่งมวลชนสายอื่นๆ ในอนาคต และจึงเชิญชวนให้ผู้โดยสารใช้บัตรแรบบิทแบบเติมเงิน โดยขณะนี้มีโปรโมชั่นลดค่าโดยสาร 1 บาทต่อ 1 เที่ยวการเดินทาง ซึ่งมีราคาถูกกว่าซื้อทีละครั้ง และมีความสะดวกและประหยัดเวลามากกว่า