เปิดรายได้ต่อเดือนอัตรา "จอมพล" ในวันรัฐมีมติยุบเลิก
เมื่อวานนี้ (19 มิ.ย. 61) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ
>> ครม.ยกเลิกครองอัตรายศ "จอมพล"
ซึ่ง สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ระบุว่า เป็นการกำหนดให้ยกเลิกอัตราเงินเดือนข้าราชการทหารของนายทหารสัญญาบัตรยศจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ หรือพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก ที่ครองอัตราจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ รับเงินเดือนระดับ น.9 เป็นกำหนดให้ นายทหารสัญญาบัตรยศพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก อัตราเงินเดือนพลเอกพิเศษ พลเรือเอกพิเศษ พลอากาศเอกพิเศษ ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.9 เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับโครงสร้างและการบริหารจัดการกำลังพลของกระทรวงกลาโหม
อ่านแล้วก็อาจจะงงๆ หน่อย Sanook! Money เลยขอเรียบเรียงให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากขึ้นอีกนิดหนึ่ง
ที่มาของตำแหน่ง จอมพล ในประเทศไทยนั้น เริ่มมีครั้งแรกในสมัย ร.6 ทรงพระราชดำริตามแบบธรรมเนียมทหารในต่างประเทศ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศจอมพลแก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งดำรงตำแหน่งจเรทหารทั่วไปในเวลานั้น เป็นพระองค์แรก
สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งดำรงพระยศเป็นจอมพล และนายทหารของกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองบัญชาการทหารสูงสุด (ปัจจุบันมีการเปลี่ยนชื่อเป็น กองบัญชาการกองทัพไทย) ซึ่งมียศจอมพล มีทั้งสิ้น 17 ท่าน ได้แก่
1. จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
2. จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช
3. จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
4. จอมพลเรือ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
5. จอมพลเรือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก - กองทัพเรือได้ขอพระราชทานพระยศจอมพลเรือ เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2541
6. จอมพลหญิง (3 เหล่าทัพ) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9
7. จอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (หม่อมราชวงศ์ อรุณ ฉัตรกุล)
8. จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)
9. จอมพล แปลก พิบูลสงคราม
10. จอมพล ผิน ชุณหะวัณ
11. จอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล (ประยูร ยุทธศาสตร์โกศล)
12. จอมพลอากาศ ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี
13. จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
14. จอมพลอากาศ เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร - ได้รับพระราชทานยศจอมพล หลังจากเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่ไต้หวัน เมื่อ พ.ศ. 2503 (ขณะเสียชีวิตมียศเป็นพลอากาศโท ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ)
15. จอมพล ถนอม กิตติขจร
16. จอมพล ประภาส จารุเสถียร
17. จอมพล เกรียงไกร อัตตะนันทน์ - ได้รับพระราชทานยศจอมพล หลังจากเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก เมื่อ พ.ศ. 2515 (ขณะเสียชีวิตมียศเป็นพลโท ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1)
ภายหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นต้นมา ก็ไม่มีการแต่งตั้งยศจอมพลอีกเลย โดยปรับเปลี่ยนเป็นมอบยศ พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก ทั้งสามเหล่าทัพแทน อย่างเช่นพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2529 ขณะที่พลเอก เปรม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
อย่างไรก็ตาม แม้จะยกเลิกยศจอมพลไปแล้วก็ตาม แต่ปัจจุบันนายทหารระดับสูงที่ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ รวมทั้งตำแหน่ง จเรทหารทั่วไป รองปลัดกระทรวงกลาโหม รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เสนาธิการทหาร รองผู้บัญชาการแต่ละเหล่าทัพ และอาจจะรวมไปถึง ประธานคณะที่ปรึกษาของแต่ละหน่วยงานดังกล่าว ได้รับเงินเดือนในอัตราจอมพลอยู่
เมื่อเปิดดู พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2558 มาตรา 12/1 ระบุไว้ในข้อ 14 ว่า
นายทหารสัญญาบัตรยศจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ หรือพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก ที่ครองอัตราจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.9
ขณะที่บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม แบ่งแยกออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
พ. (ใช้กับพลทหาร) มี 2 ระดับคือ พ.1-พ.2 แบ่งย่อยขั้นเงินเดือนตั้งแต่ 1-33
ป. (ใช้กับนายทหารประทวน) มี 3 ระดับคือ ป.1-ป.3 แบ่งย่อยขั้นเงินเดือนตั้งแต่ 1-40
น. (ใช้กับนายทหารสัญญาบัตร) มี 9 ระดับคือ น.1-น.9 แบ่งย่อยขั้นเงินเดือนตั้งแต่ 1-46
ซึ่งเงินเดือนระดับ น.9 ที่ใช้จ่ายให้กับผู้ที่ครองอัตราจอมพลนั้น มีแบ่งย่อยขั้นตั้งแต่ 1-12.5 หรือเป็นเงินระหว่าง 51,960-78,030 บาท
แต่ยังมีรายได้ที่ได้รับเพิ่มเติมอีกหนึ่งประเภท นั่นคือ เงินประจำตำแหน่ง ซึ่งนายทหารที่ครองอัตราจอมพลจะได้รับในอัตราสูงสุดอยู่ที่ 21,000 บาทต่อเดือน
ดังนั้น เมื่อคิดรวมๆ แล้วผู้ที่ครองอัตราจอมพลจะมีรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 72,960-99,030 บาท
แม้จะยกเลิกการครองอัตราจอมพล แต่ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่ผ่านการพิจารณาของ ครม.นั้น ก็ระบุว่าอัตราเงินเดือนพลเอกพิเศษ พลเรือเอกพิเศษ พลอากาศเอกพิเศษ ให้ได้รับเงินเดือนระดับ น.9 เช่นเดียวกัน
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ