การบินไทยและแอร์บัส ร่วมทุนก่อตั้ง "ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา"
บริษัท Airbus ตัดสินใจสร้างบริษัทร่วมทุนเพื่อบริการซ่อมบำรุงอากาศยานกับบริษัท การบินไทย โดยรัฐบาลระบุพร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอากาศยานและการบิน
เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ของวันที่ 22 มิ.ย.ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์ ได้เดินทางไปที่บริษัท Airbus Commercial Aircraft เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส พบหารือกับ นายกีโยม โฟรี (Mr. Guillaume Faury) ประธานบริษัทแอร์บัสฯ
พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ร่วมเดินทางไปพร้อมคณะของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขอให้ผู้บริหารบริษัทแอร์บัสฯ เร่งขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันให้เกิดขึ้นโดยเร็วภายในรัฐบาลนี้ และขอให้มั่นใจว่า โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ที่บริษัทแอร์บัสฯ ตัดสินใจสร้างบริษัทร่วมทุนเพื่อบริการซ่อมบำรุงอากาศยาน กับ การบินไทย จะได้รับการสนับสนุนและสานต่อ เพราะมียุทธ์ศาสตร์ชาติ 20 ปีรองรับอยู่
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงร่วมทุนก่อตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance, Repair and Overhaul – MRO) เพื่อเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานที่ทันสมัยระดับโลก ระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอร์บัส โดยมีนางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และนายเอริค ชัลซ์ (Mr. Eric Schulz) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายพาณิชย์ บริษัท แอร์บัส ร่วมลงนาม พร้อมด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายกีโยม โฟรี (Guillaume Faury) ประธานบริหารฝ่ายเครื่องบินพาณิชย์ของบริษัท แอร์บัส ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ สำนักงานใหญ่ บริษัท แอร์บัส เมืองตูลูส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทยฯ เปิดเผยว่า โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Project) จะเป็นศูนย์ซ่อมที่มีความทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และมีประสิทธิภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จะสามารถซ่อมได้ทั้งการซ่อมบำรุงใหญ่ (Heavy maintenance) และการซ่อมบำรุงอากาศยานระดับลานจอด โดยสามารถซ่อมให้แล้วเสร็จได้ที่อากาศยาน (Line services) สำหรับเครื่องบินลำตัวกว้างทุกประเภท โดยจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลการบำรุงรักษาเครื่องบิน ตลอดจนเทคนิคการตรวจสอบ รวมถึงการใช้โดรนตรวจสอบโครงสร้างของเครื่องบินอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีโรงซ่อมอากาศยานเฉพาะด้าน ได้แก่ ศูนย์ซ่อมโครงสร้างคอมโพสิต และศูนย์ฝึกอบรมการซ่อมบำรุงที่ครบวงจรสำหรับช่างเทคนิคทั้งจากในประเทศไทยและต่างประเทศ
การร่วมทุนระหว่างการบินไทยและแอร์บัสในครั้งนี้ จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและอวกาศในประเทศไทยให้ก้าวไปไกลยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจำนวนฝูงบินของเครื่องบินลำตัวกว้างในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าหรือราว 4,800 ลำ ในอีก 20 ปีข้างหน้า และส่งผลดีต่อแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นไปตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลไทย ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและบริการโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศไทยให้ไปสู่ระดับโลก