เปิดศึกชิงตลาด "กะทิ" ไทย มูลค่า 6 พันล้านบาท
กะทิ เป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารไทยทั้งคาวและหวาน ทำให้มีรสชาติเข้มข้น หอม มัน และอร่อย คนสมัยก่อนจะคั้นกะทิกันสดๆ เพื่อนำมาทำอาหาร ต่อมาไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนไป “ของสำเร็จรูป” จึงเข้ามาตอบโจทย์ความเร่งรีบในยุคนี้ได้ กะทิเองก็ถูกแปรรูปมาอยู่ในขวดหรือกล่องเช่นกันแต่ยังคงรักษาความสดจากมะพร้าวเช่นเดิม
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่มาจากมะพร้าว โดยเฉพาะกะทิและน้ำมะพร้าวมีความต้องการในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยมาจากเทรนด์รักสุขภาพของกลุ่มผู้บริโภค ไม่แปลกใจนักที่เราจะเห็นผู้เล่นธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารแตกไลน์มาทำสินค้าพวกมะพร้าวเพิ่มขึ้น
Sanook! Money ได้รวบรวมข้อมูลที่พอหาได้คร่าวๆ มาฝากกัน
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์กะทิ (Coconut Milk) เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยมีสัดส่วน 75% ของสัดส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวทั้งหมด ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ยุโรป , สหรัฐฯ และออสเตรเลีย การส่งออกกะทิมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากจำนวนร้านอาหารไทยที่เปิดในต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงเทรนด์สุขภาพ โดยปี 2559 ไทยส่งออกกะทิ 10.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 12.6% และคาดว่าในปี 2560 มูลค่าการส่งออกกะทิจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 12.7 พันล้านบาท
ดังนั้น กะทิแปรรูปมีอัตราการเติบโตที่สดใส จึงเป็นโอกาสของผู้เล่นธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารที่จะเข้ามาชิงมูลค่าตลาดกะทิแปรรูปมากขึ้น
ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 มีผู้เล่นแบรนด์ “เรียลไทย” เปิดตัวกะทิสำเร็จรูปโดยอิงจากละครบุพเพสันนิวาส เพื่อตอกย้ำความเป็นไทยให้กับผู้บริโภคทั้งไทยและเทศ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าศึกชิงตลาดกะทิสำเร็จรูปในตอนนี้ดุเดือดยิ่งนัก ดังนั้น เราขอหยิบยกผู้เล่นกะทิสำเร็จรูปที่มีขนาดใกล้เคียงกับแบรนด์เรียลไทยอย่าง กะทิชาวเกาะ และกะทิอัมพวา ว่าใครใหญ่สุดในตลาดกะทิสำเร็จรูป ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลประกอบการของธุรกิจกะทิของ 3 เจ้า ระหว่างปี 2558-2560 ดังนี้
บริษัท ไทยแทน ฟู้ดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือแบรนด์เรียลไทย (ผลิตน้ำกะทิกระป๋อง และน้ำผลไม้) มีผลประกอบการย้อนหลัง ดังนี้
ปี 2558 รายได้ 1,123 ล้านบาท กำไร 66 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 2,375 ล้านบาท กำไร 300 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 2,689 ล้านบาท กำไร 325 ล้านบาท
บริษัท เอเชียติค อุตสาหกรรมเกษตร จำกัด แบรนด์อัมพวา (แปรรูปและถนอมผัก ผลไม้ด้วยวิธีอื่นๆ) มีผลประกอบการย้อนหลัง ดังนี้
ปี 2558 รายได้ 2,107 ล้านบาท กำไร 77 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 2,785 ล้านบาท กำไร 69 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 3,683 ล้านบาท กำไร 68 ล้านบาท
บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด แบรนด์ชาวเกาะ (กะทิคั้น และเครื่องดื่มธัญพืช และน้ำแกงปรุง บรรจุกล่องยูเอชที) มีผลประกอบการย้อนหลัง ดังนี้
ปี 2558 รายได้ 2,706 ล้านบาท กำไร 215 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 2,832 ล้านบาท กำไร 33 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 2,909 ล้านบาท กำไร 38 ล้านบาท
ทั้ง 3 บริษัทนี้ มีรายได้ใกล้เคียงกัน แต่กำไรแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งหลังจากนี้ คาดว่าผู้เล่นธุรกิจกะทิจะต้องแข่งขันกันทั้งเรื่องกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาควบคุมราคาต้นทุน ความสดใหม่ของกะทิ การเจาะกลุ่มผู้บริโภค และอื่นๆ เป็นต้นอีกทั้งตลาดกะทิสำเร็จรูปที่ขายในช่องทางค้าปลีกในไทย ปัจจุบันอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท ซึ่งนี่…. อาจะเป็นเหตุผลหนึ่งของผู้เล่นธุรกิจกะทิที่ต้องการชิงเพื่อครองมูลค่าตลาดกะทิสำเร็จรูปในไทยนั่นเอง