แม่เลี้ยงเดี่ยวแบบ "อรุณา" ใน "เมีย2018" ต้องเตรียมตัวยังไง
ช่วงนี้หันไปทางไหนก็มีแต่คนพูดถึงละคร เมีย2018 ซึ่งป้อง-ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ รับบทบาทเป็นสามีผู้นอกใจภรรยา (อีกแล้ว...พี่ป้องถนัดจริงๆ บทแนวนี้ อิอิอิ) มาประชันบทบาทกับบี-น้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์ ที่รับบทเป็นภรรยาและแม่ผู้ทุ่มเทแทบจะทุกอย่างเพื่อดูแลครอบครัว แต่กลับต้องมาเจอน้องมารี เบิร์นเนอร์ ผู้เป็นน้องสาวก้าวเข้ามาแทรกกลางแย่งชิงความรักไป
ตอนนี้เส้นเรื่องดำเนินมาจนถึงจุดที่ สามีแยกออกไปอยู่กับภรรยาใหม่ซึ่งก็คือน้องสาวของภรรยาเดิม ปล่อยให้อดีตภรรยาดูแลลูกไป (อ่านมาถึงตรงนี้ รับรองว่าบรรดาแก๊งเมียหลวงหัวร้อน ของขึ้นแน่นอน ดังนั้นข้ามไปก็ได้จ้ะ T_T)
ดังนั้น Sanook! Money อยากจะชวนมาพิจารณาดูกันว่าการเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวในปัจจุบันนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะเหตุผลของแต่ละครอบครัวแตกต่างกัน เช่น การเสียชีวิต การนอกใจ อยู่ด้วยกันแล้วเข้ากันไม่ได้ การเล่นพนัน การถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ ฯลฯ ซึ่งในกรณีเสียชีวิตเราเลือกไม่ได้ ในขณะที่กรณีอื่นๆ นั้นเราเลือกได้ ถ้าการอดทนอยู่ด้วยกันแล้วอีกฝ่ายปรับตัวให้ดีขึ้นได้ ครอบครัวก็แฮปปี้ แต่ถ้าเลวร้ายกว่านั้น ยิ่งอยู่ด้วยกันยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ การแยกทางกันอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ภาระที่แม่เลี้ยงเดี่ยว (Single Mom) ต้องรับผิดชอบ
เรื่องของครอบครัวจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ งานในบ้าน (เช่น งานบ้าน เลี้ยงลูก ทำอาหาร) กับงานนอกบ้าน (เช่น การทำงานหารายได้) ซึ่งงานแต่ละแบบก็จะเหนื่อยไปคนละอย่าง ในขณะที่แต่ละครอบครัวก็จะแบ่งหน้าที่แตกต่างกัน เช่น
-
พ่อดูแลงานนอกบ้านทำงานคนเดียว ส่วนแม่จัดการงานในบ้าน
-
แม่ทำงานหารายได้คนเดียว ส่วนพ่อดูแลงานทุกอย่างในบ้าน
-
บางครอบครัว พ่อแม่ต้องช่วยทำทั้งสองอย่างไปพร้อมกัน
หากถึงจุดที่ต้องกลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ความรับผิดชอบทั้งงานในบ้านและนอกบ้านก็จะตกมาอยู่กับคุณแม่ฝ่ายเดียว ถ้าเดิมเคยทำงานอยู่แล้วก็จะมีรายได้มาเลี้ยงลูก ส่วนงานในบ้านอาจจะจ้างแม่บ้านมาดูแลได้เป็นครั้งคราว
แต่ถ้าไม่เคยทำงานมาก่อน พึ่งพาเงินจากสามีเพียงอย่างเดียว ถ้าต้องกลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวก็อาจจะใช้ชีวิตลำบากเพราะขาดรายได้ แต่เรื่องนี้เราฝึกฝนกันได้ เพราะปัจจุบันมีช่องทางหารายได้ง่ายขึ้น เช่น การทำงานออนไลน์ที่ทำให้เราสร้างรายได้และดูแลบ้านไปพร้อมๆ กัน
แล้วถ้าต้องมาเป็น Single Mom ควรทำยังไง
แม้ว่าการดูแลลูกด้วยตัวคนเดียวจะเป็นภารกิจที่หนักมาก แต่ก็ทำให้เบาลงได้โดยการให้ลูกมาช่วยกันรับผิดชอบ เพื่อหัดให้ลูกดูแลตัวเอง เพิ่มทักษะที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ฝึกให้เกิดความกล้าตัดสินใจ การจัดระบบความคิด มีความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ โดยมีจุดเริ่มต้นง่ายๆ จากการทำงานบ้าน
-
ฝึกให้ลูกทำงานในบ้าน เช่น ถูบ้าน ล้างจาน เพื่อฝึกการจัดระบบความคิดว่าควรทำอะไรก่อน-หลัง ฝึกความละเอียดรอบคอบ อย่างเช่นการล้างจาน ลูกจะรู้ว่าควรกวาดเศษอาหารทิ้งก่อน จากนั้นทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างจาน สุดท้ายล้างน้ำเปล่าแล้ววางในที่พักจานหรือเช็ดเก็บเข้าที่
-
ฝึกให้ลูกทำงานนอกบ้าน เช่น การให้ลูกทำงานพาร์ทไทม์ เพื่อให้รู้จักคุณค่าของเงินและใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ฝึกเรื่องการเข้าสังคม การสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น ฝึกการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งทุกอย่างล้วนเป็นทักษะชีวิตที่ต้องเรียนรู้ ในขณะที่บางครั้งการทำงานเล่นๆ ของลูก อาจจะกลายเป็นรายได้หลักของครอบครัวไปเลยก็ได้ จากหลายตัวอย่างที่มีให้เห็นใน YouTube หรือการขายของออนไลน์ต่างๆ
ส่วนวิธีการสอนควรทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เพราะเด็กจะจดจำได้ดีกว่าการพร่ำบ่นหรือการบังคับ เพราะอาจจะทำให้เด็กรำคาญแล้วกลายเป็นการต่อต้าน จากแนวคิดนี้ทำให้นึกถึงเหตุการณ์เมื่อหลายปีที่แล้วช่วงปิดเทอม ผู้หญิงคนหนึ่งต้องไปเสิร์ฟอาหารโต๊ะจีน จึงพาลูกสาวมาด้วยเพราะไม่อยากปล่อยให้อยู่บ้านคนเดียว
วันนั้นลูกสาวก็ช่วยแม่ทำงานเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่พอทำได้ และเห็นบรรยากาศจริงๆ ว่ากว่าจะได้เงินมาแต่ละบาทนั้นต้องทำงานอย่างไร ภาพการทำงานเหนื่อยแทบขาดใจของแม่ ทำให้พฤติกรรมการใช้เงินของลูกสาวเปลี่ยนแปลงไป จากเมื่อก่อนทุกครั้งที่ไปเดินตลาดนัด ลูกสาวมักซื้อของกินกลับมาเยอะมาก แต่กินไม่เคยหมด ตอนนี้ทุกครั้งที่ตัดสินใจซื้อของกินก็จะเลือกเท่าที่ตัวเองกินหมด ไม่กินทิ้งกินขว้างเพื่อจะได้ประหยัดรายจ่าย
3 เรื่องการวางแผนเพื่อกลายเป็นสุดยอดแม่เลี้ยงเดี่ยว
เรื่องที่ 1 การแยกบัญชีตามเป้าหมายการเงินของแม่และลูก
ถ้าเรานำเงินเก็บรวมกันไว้ในบัญชีเดียวเพื่อรอจ่ายให้ลูกเป็นเงินเตรียมจ่ายค่าเทอม ค่าขนม ค่าเรียนพิเศษ เงินฉุกเฉินในครอบครัว เงินรอจ่ายค่าบัตรเดรดิต ฯลฯ แล้วถ้าบางเดือนเราหมุนเงินไม่ทันก็อาจจะดึงเงินส่วนที่เป็นเงินค่าเทอมของลูกออกมาใช้ก็ได้ สุดท้ายตัวเราเองนั่นแหละที่จะหัวหมุนช่วงเปิดเทอมที่จะต้องรีบหาเงินมาจ่าย แต่ชีวิตของเราจะง่ายขึ้นถ้าแยกบัญชีตามเป้าหมายการเงินของแม่และลูก
ตัวอย่าง
การแยกบัญชีตามเป้าหมายอาจจะเป็นชื่อบัญชีของลูกหรือชื่อบัญชีของแม่ที่วงเล็บ (เพื่อลูก) แบบนี้ก็ได้ เราควรเขียนภาพรวมออกมาก่อนว่าจะใช้เงินเพื่อตัวเองและเตรียมอะไรให้ลูกบ้าง ในระยะสั้นก็ไม่เกิน 1 ปี ระยะกลาง 1 - 5 ปี และระยะยาวมากกว่า 5 - 10 ปีขึ้นไป ว่าจะใช้เงินทำอะไรบ้าง จากนั้นค่อยลงลึกวิธีที่จะทำให้แต่ละเป้าหมายการเงินนั้นสำเร็จ
เรื่องที่ 2 การทำตามเป้าหมาย
เป้าหมายการใช้เงินของแม่และลูกแตกต่างกัน เราควรวางแผนการใช้เงินที่รักษาเป้าหมายของตัวเอง และสร้างอนาคตให้ลูกได้ไปพร้อมๆ กัน ไม่ควรทุ่มเทให้ลูกทุกอย่างจนไม่มีเงินเกษียณของตัวเอง เพราะช่วงสุดท้ายของชีวิตก็อาจจะต้องกลับไปพึ่งพาลูก หากตอนนั้นลูกทำงานมีรายได้เพียงพอก็สามารถเลี้ยงดูแม่ได้ แต่ถ้าลูกยังเอาตัวเองไม่รอดแล้วจะมีเงินที่ไหนมาดูแลแม่ได้กันล่ะ
เราเลือกได้ตั้งแต่ตอนนี้ว่าจะกลายเป็นผู้สูงอายุที่มีเงินแล้วแบ่งมรดกให้ลูกหลานหรือว่าเป็นผู้สูงอายุไร้เงินและดูแลตัวเองไม่ได้ ถ้าต้องการเป็นแบบแรกมีมรดกให้ลูกหลานและดูแลตัวเองได้ ควรเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ที่การตั้งเป้าหมายการเงินว่า “อะไร เท่าไหร่ เมื่อไหร่” จะได้รู้ว่าควรเก็บสะสมเงินอย่างไรเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น
ตัวอย่าง
เป้าหมายการเงินระยะสั้น
เมื่อเราจดบัญชีรายรับ-รายจ่ายก็จะประมาณตัวเลข ตั้งเป็นเป้าหมายระยะสั้นได้ เพื่อเก็บเป็นเงินฉุกเฉินใช้จ่ายในช่วงที่ต้องการเงินเร่งด่วน เช่น เกิดอุบัติเหตุ ตกงาน ซ่อมบ้าน ซ่อมรถ ลูกป่วย ฯลฯ เราจะได้ไม่ต้องไปกู้ยืมเงินให้เสียดอกเบี้ยแพงๆ
ตัวอย่าง รายจ่ายของแม่และลูก
-
แม่ : ค่าผ่อนรถเดือนละ 5,000 บาท
-
แม่ : ค่าผ่อนบ้านเดือนละ 10,000 บาท
-
แม่ : ใช้จ่ายส่วนตัวเดือนละ 5,000 บาท
-
ลูก : ค่าขนมเดือนละ 2,000 บาท (วันละ 100 บาท)
-
ลูก : เรียนพิเศษเดือนละ 1,500 บาท
รวมรายจ่ายเดือนละ 23,500 บาท
จากตัวอย่างนี้เป้าหมายระยะสั้นเป็นเงินฉุกเฉิน ควรเก็บไว้ 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่าย คือ 70,5000 - 141,000 บาท โดยเก็บไว้ในที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง กองทุนรวมตลาดเงิน สมมติว่าเราตกงานกะทันหันหรือไม่มีรายได้เข้ามา เราจะได้มีเงินฉุกเฉินก้อนนี้มาหมุนใช้ได้ เพื่อมีเวลาไปหารายได้ก้อนใหม่
แต่ถ้าเราไม่มีเงินฉุกเฉินเก็บไว้ พอถึงช่วงเงินช๊อต เงินขาดมือ ก็ไปกู้ยืมมาใช้จ่าย กว่าจะหาเงินมาจ่ายหนี้ได้ ดอกเบี้ยก็วิ่งแซงเงินต้นไปไกลมาก หารายได้ไม่ทันหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ก็ต้องไปกู้ยืมเจ้าหนี้คนอื่นมาอีก กลายเป็นการสร้างหนี้ใหม่ไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ตกอยู่ในวังวนของหนี้สินอย่างถาวร
ในขณะที่บางคนคิดว่าลำพังรายจ่ายแต่ละเดือนก็ยังไม่พอใช้ แล้วจะเก็บเงินฉุกเฉินได้อย่างไร ถ้าเราต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นก็ต้องเปลี่ยนแปลง โดยการกลับมาดูที่บัญชีรายจ่ายที่จดไว้ว่าแต่ละเดือนใช้จ่ายอะไร ควรลดรายจ่ายจุดไหนบ้างเพื่อให้เพียงพอกับรายได้ แต่ถ้าลดรายจ่ายไม่ได้ก็ต้องหาวิธีเพิ่มรายได้
เป้าหมายระยะยาว
แผนเกษียณของคุณแม่และค่าเทอมของคุณลูกในอนาคต เป็นการวางแผนระยะยาวที่มากกว่า 5 - 10 ปีขึ้นไป ในกรณีเงินเกษียณของคุณแม่ควรคำนวณว่าต้องใช้เงินประมาณเท่าไหร่ รวมแล้วยังขาดอีกเท่าไหร่ จากนั้นก็เลือกว่าจะเก็บเงินไว้ที่ไหน เช่น ประกันชีวิตแบบบำนาญ RMF กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ
ส่วนเงินค่าเทอมของลูก เราต้องเลือกว่าจะเก็บเงินเอง ใช้ประกันชีวิตเพื่อป้องกันความเสี่ยง หรือทำทั้งสองอย่างควบคู่กัน จากภาพนี้เราจะเห็นว่าทั้งสองวิธีมีผลลัพธ์ออกมาแตกต่างกัน
เรื่องที่ 3 พินัยกรรมทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น
ตอนมีชีวิตอยู่สร้างทรัพย์สินเก็บไว้ รู้ทุกอย่างอยู่คนเดียวว่ามีเท่าไหร่แล้วเก็บไว้ที่ไหนบ้าง เมื่อเสียชีวิตแล้วลูกของเราจะรู้หรือไม่ว่าต้องจัดการมรดกอย่างไร สุดท้ายต้องเสียเวลารื้อค้นเอกสารตามสืบเอง ใช้เวลานานกว่าจะได้รับมรดก
แม้ว่าเราห้ามการตายไม่ได้ แต่เราสามารถวางแผนอนาคตหลังความตายได้ เพื่อให้เงินที่เก็บไว้นั้นตกถึงมือลูกของเราทุกบาททุกสตางค์ ควรเขียนพินัยกรรมสรุปทรัพย์สิน บอกให้ลูกรู้ว่าเรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง ถ้ามีลูกหลายคนก็ระบุไปเลยว่าใครได้รับอะไร เท่าไหร่บ้าง ซึ่งคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวน่าจะเบาใจขึ้นหากเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตไปอย่างกะทันหัน อย่างน้อยลูกของเราจะได้จัดการทุกอย่างเองได้ หรือญาติๆ จะได้เข้ามาช่วยดูแล เช่น
-
ประกันชีวิต
-
แม่ควรสรุปข้อมูลว่าทำกับบริษัทอะไร กรมธรรม์แบบไหน สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง ชื่อและเบอร์โทรของตัวแทนหรือ Call Center
-
หากแม่เสียชีวิต ลูกก็จะติดต่อตัวแทนประกัน เพื่อจะได้นำเงินจากประกันชีวิตที่คุณแม่ทำไว้มามอบให้ลูก เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในอนาคต เช่น ค่าเทอม รายจ่ายในชีวิตประจำวัน
-
-
สินทรัพย์ทางการเงิน เช่น เงินฝาก กองทุนรวม หุ้น
-
ควรเขียนสรุปว่าเปิดบัญชีกับบริษัทอะไร ผู้แนะนำการลงทุนของแม่เป็นใคร เบอร์โทรติดต่อ สินทรัพย์ที่ลงทุน จำนวนเงินที่ลงทุน
-
หากแม่เสียชีวิต ลูกจะได้โทรหาผู้แนะนำการลงทุนเพื่อแจ้งว่าเจ้าของบัญชีเสียชีวิต ลูกจะได้เข้ามาจัดการเงินในส่วนนี้ได้ หากจำเป็นต้องใช้เงินก็ขายกองทุนรวมหรือหุ้นนั้น แต่ถ้าต้องการลงทุนต่อ ก็โอนมาเป็นชื่อของตัวเองได้
-
-
สังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ เช่น รถยนต์ บ้าน คอนโด ที่ดิน อสังหาฯ ให้เช่า ฯลฯ
-
ควรรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเก็บใส่แฟ้มไว้ หรือสแกนเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ เผื่อเอกสารเสียหายจะได้มีข้อมูลไปติดตามทรัพย์สินได้ (เคยคุยกับผู้ใหญ่บางท่านเขียนข้อมูลบอกลูกไว้ละเอียดมากว่าถ้าติดต่อกับที่ดินจะมีขั้นตอนอะไรบ้าง เพื่อให้ลูกรู้ว่าถ้าต้องไปติดต่อราชการเองจะต้องทำอย่างไร)
-
หากแม่เสียชีวิต ลูกจะได้ติดต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นๆ เช่น เจ้าหน้าที่ธนาคารที่กำลังผ่อนรถหรือผ่อนบ้าน เพื่อผ่อนต่อหรือถ้าส่งต่อไม่ไหวก็ขาย การจัดการเรื่องเอกสารที่กรมที่ดิน
-