วิเชียร เมฆตระการ ชีวิตในแบบของซีอีโอค่ายมือถือ

วิเชียร เมฆตระการ ชีวิตในแบบของซีอีโอค่ายมือถือ

วิเชียร เมฆตระการ ชีวิตในแบบของซีอีโอค่ายมือถือ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส

ผู้บริหารในแวดวงโทรคมนาคมที่เป็นกันเอง และเปิดใจพูดคุยทุกประเด็นกับนักข่าว ประกอบกับบุคลิกที่แสดงความมีน้ำใจกับนักข่าวเสมอ ทำให้ได้รับฉายาจากนักข่าวไอทีว่า "ป๋าวิเชียร"


ช่วงเดือนเมษายน E-Commerce ได้ร่วมเดินทางไปเปิดบริการใหม่ของเอไอเอส ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคุณวิเชียรและภรรยาได้ร่วมเดินทางไปด้วย ทำให้ได้เห็นในอีกแง่มุมของผู้บริหารท่านนี้ว่าเป็นคนที่ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย จึงถือโอกาสในการเดินทางพูดคุยถึงเรื่องงาน รวมถึงไลฟ์สไตล์ที่หลายคนอาจยังไม่ทราบสำหรับผู้บริหารท่านนี้ นอกจากหน้าที่การงานที่ต้องเตรียมพร้อมและแข่งขันตลอดเวลา

CEO ค่ายโทรศัพท์เบอร์หนึ่ง
คุณวิเชียร เล่าว่า ตั้งแต่รับตำแหน่ง CEO ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการบริหารงานมากที่สุด เพราะเป็นรอยต่อของการเปลี่ยนเทคโนโลยีบนเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และยังไม่เห็นอนาคตว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้เมื่อไร

ซึ่งในฐานะ CEO ถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุด และจะต้องเตรียมความพร้อมให้มากที่สุดในการตั้งรับ หากมีการออกใบอนุญาตและเปิดให้บริษัทเอกชนเข้าไปประมูลระบบ 3G ดังนั้น จะทำอย่างไรให้เอไอเอสได้รับใบอนุญาตเพื่อทำการเปิดให้บริการแก่ลูกค้าได้เร็วที่สุด ที่สำคัญคือ ต้องได้มาอย่างถูกต้องและโปร่งใส เพื่อให้ลูกค้าเอไอเอสเกิดความมั่นใจมากที่สุดในการให้บริการ

 

"ด้านความพร้อมภายในของเอไอเอสนั้น บุคลากรของเรามีความรู้ที่ดีมากกับเทคโนโลยี ดังนั้น บทบาทสำคัญและเป็นภาระที่หนักมากของผมในตอนนี้ที่เป็นฝ่ายสนับสนุนการทำงานนั่นคือ การเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตระบบ 3G เพื่อให้ได้ใบอนุญาตมาส่งต่อให้กับทีมงานในการนำไปพัฒนาบริการให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างดีที่สุด รวมถึงการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานเพื่อไม่ให้การทำงานติดขัด"

 

การอัพเดตโทรศัพท์มือถือ หรือแอพพลิเคชั่นรุ่นใหม่

เมื่อถามถึงเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ ในฐานะผู้บริหาร ต้องอัพเดตเทคโนโลยีของโทรศัพท์มือถือแพลตฟอร์มต่างๆ ด้วยหรือไม่

คุณวิเชียร เผยว่า การทำงานจำเป็นต้องอัพเดตและเกาะกระแสเทคโนโลยีต่างๆ ที่ออกมาให้ทัน โดยจะเน้นศึกษาเพื่อให้รู้ถึงฟังก์ชั่นและฟีเจอร์ของเทคโนโลยีมากกว่า แต่โดยส่วนตัวจะไม่ได้นำมาใช้มากเท่าไร นอกจากนำมาใช้กับเรื่องงานเป็นส่วนใหญ่ เช่น อีเมล BBM และแอพพลิเคชั่นบางตัวที่ต้องดาวน์โหลดมาช่วยในการทำงาน

 

สำหรับโทรศัพท์มือถือที่ใช้ตอนนี้และพกติดตัวประจำคือ Nokia ที่ใช้โทรและส่ง SMS เป็นส่วนใหญ่ ซึ่ง คุณวิเชียร เล่าว่า ตนเป็นคนส่ง SMS ทั้งไทยและอังกฤษเร็วระดับแชมป์เลย และอีกเครื่องคือ BlackBerry ที่ไว้ใช้ดูอีเมล แชต และดูตารางงาน นอกจากนี้ ก็มีไอโฟนและไอแพดด้วย แต่ไม่ได้พกติดตัวเป็นประจำจะเอามาใช้บ้างเป็นครั้งคราวเท่านั้น ส่วนสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ที่ออกมาในตลาด ทางทีมจะส่งมาให้ลองทุกรุ่น ซึ่งเท่ากับว่าได้อัพเดตเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปในตัวด้วย

คุณวิเชียร เล่าว่า การทำงานจะไม่ค่อยได้สรรหาแอพพลิเคชั่นแปลกๆ มาใช้ นอกจากแอพพลิเคชั่นพื้นฐานที่นำมาใช้กับความชอบของตนเอง เช่น วันว่างจะชอบไปพักผ่อนที่เขาใหญ่เพราะเงียบสงบ ซ้อมยิงปืน หรือตีกอล์ฟบางในครั้ง จึงดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นคำนวณระยะและเส้นทางของกระสุนและเกมกอล์ฟมาไว้บนไอโฟนและไอแพด

เมื่อเจออุปสรรคในการทำงาน

คุณวิเชียร เล่าว่า การเข้ามารับตำแหน่งนั้นจะเจอปัญหามาโดยตลอด เริ่มจากการเกิดรัฐประหารซึ่งเอไอเอสกลายเป็นเป้าสำคัญทางการเมืองในกรณีเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งที่ตอนนั้นท่านได้ทำการขายหุ้นชินวัตรไปแล้ว แต่ไม่มีใครเชื่อ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในการหาทางออกคือ เตรียมข้อมูลเพื่อยื่นเรื่องในการต่อสู้คดีฟ้องร้องให้ดีที่สุดในกรอบกระบวนการของศาลยุติธรรม

"เมื่อมีอุปสรรคนี้ขึ้นมาทำให้ลำบากเหมือนกัน เพราะคงปฏิเสธปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ในส่วนของความรับผิดชอบในการบริหารงาน สิ่งที่ทำได้คือ กำหนดแนวทางการทำงานว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนเห็นถึงความเป็นกลางและไม่ได้เป็นอย่างที่ถูกกล่าวหา เราจึงบอกกับพนักงานทุกคนว่า หน้าที่ของทุกคนคือ ต้องให้บริการแก่ลูกค้าดีที่สุด เพราะลูกค้าคือ ผู้ที่ให้รายได้แก่เรา ดังนั้น ไม่ว่าลูกค้าจะใส่เสื้อสีอะไรไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะไปยุ่งเกี่ยวหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ"

วิธีรับมือปัญหาที่เข้ามา

คุณวิเชียร กล่าวว่า "ผมเป็นชาวพุทธและศึกษาเรื่องปรัชญาด้วย สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนมีอยู่ 3 เรื่อง คือ ทำความดีละเว้นความชั่ว นี่คือหลักใหญ่ รวมถึงหลักของไตรลักษณ์ที่บอกว่า ทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และสุดท้ายคือ การเดินทางสายกลาง"

หลักไตรลักษณ์ทำให้เราไม่ยึดถือทุกอย่างเป็นสรณะ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ เพียงเราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด หากจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ปล่อยให้เกิดขึ้น เพราะทุกอย่างมันเป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อเราไม่ยึดถือการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้เราก็จะไม่มีทุกข์

"สำหรับผมเป็นแค่ลูกจ้างคนหนึ่ง ผมก็ไม่ใช่คนใหญ่โตอะไร ในการได้รับโอกาสและขึ้นมาถึงตำแหน่ง CEO ได้ ถือว่าเป็นทั้งโชค วาสนาและความสามารถด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งหากมองแล้วทั้งหมดเป็นเพียงหัวโขนเท่านั้น เมื่อผมเกษียณแล้วทุกอย่างก็จบลง ซึ่งถ้าเราคิดแบบนี้ได้ก็สบายใจแล้วนี่แหละคือชีวิตในแบบของผม" คุณวิเชียร กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook