พิษ “เงินเฟ้อ” ทำข้าวแกง “แพง” แค่ไหน?
จำได้หรือเปล่า ข้าวแกงจานละ 20 บาท ที่กินล่าสุดนั้นเมื่อไหร่? เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงสมัยพกเงิน 20 บาทไปโรงเรียนที่ทำให้อิ่มอยู่ท้องไปได้ระหว่างวัน
แต่เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา อย่าว่าแต่ข้าวจานละ 20 บาทเลยที่หายาก จานละ 35 บาท และอิ่มท้องยังหายากยิ่งกว่าในเมืองหลวง
แน่นอนว่าคำถามหลายคนผุดขึ้นมา อะไรทำให้สินค้า และค่าครองชีพในแต่ละวันแพงขึ้น?
คำตอบคือ “เงินเฟ้อ” คำที่พบเจอบ่อยๆ ซึ่งบางคนอาจยังไม่เข้าใจว่าเป็นดัชนีที่ใช้วัดระดับการเพิ่มขึ้นของสินค้าในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยจะปรากฏบ่อยเมื่ออ่านหรือฟังข่าวสารเศรษฐกิจชวนกุมขมับ
แต่รู้หรือไม่ ว่าปีนี้เงินเฟ้อจะทรงตัวที่เท่าไหร่นั้น คิดจากอะไรเป็นหลัก?
ประเทศไทย มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่วัดดัชนีทางเศรษฐศาสตร์ต่างๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อ, ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้า, ราคาขายปลีกสินค้าและบริการ โดยกองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ส่วนหน่วยงานที่ทำหน้าที่หาอัตราเงินเฟ้อ ส่วนหนึ่งจะอ้างอิงจาก “ดัชนีราคาผู้บริโภค” ซึ่งวัดความต้องการและศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัว และระดับค่าครองชีพของคนไทย
ดัชนีราคาผู้บริโภคจะอ้างอิงจากจำนวนรายการสินค้าและบริการจำนวนทั้งสิ้น 422 รายการ แบ่งเป็น 7 หมวด ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม, เครื่องนุ่งหุ่มและรองเท้า, เคหสถาน, การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล, ยานพาหนะ การขนส่งและสื่อสาร, บันเทิงและการศึกษา, ยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ทีนี้ลองมาดูกันว่า ดัชนีครัวเรือน 20 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นขนาดไหน?
จากสินค้าทุกหมวดในปี 2540 ดัชนีเฉลี่ยของสินค้าทุกรายการอยู่ที่ 63.71 แต่ในปี 2560 ดัชนีเฉลี่ยสินค้าอยู่ที่ 100.85 หรือสูงขึ้นถึง 37.14 ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา
ถ้าเจาะลึกเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่ม จะพบว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีดัชนีที่ 49.36 ส่วนปี 2560 ดัชนีอยู่ที่ 101.61 เห็นชัดเจนเลยว่าราคาอาหารแพงขึ้นถึงเป็นเท่าตัว
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมราคาข้าวแกงในปัจจุบันถึงมีราคาแพงขึ้น ปัจจัยมาจากผลกระทบจากราคาน้ำมัน, ต้นทุนการเกษตร ความต้องการของตลาด และอื่นๆ
ในแต่ละปี “ค่าของเงิน” จะด้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งคิดหยาวๆที่ราว 3-3.5% ต่อปี เช่น เงิน 1,000 บาท ในปีที่แล้ว มีมูลค่าลดลง 970 บาท ในปีนี้ ทำให้เราต้องจ่ายแพงขึ้นแต่การรับประทานในปริมาณเท่าเดิมที่ไม่ต่างจาก 20 ปีก่อน
ทีนี้คงไม่มีอะไรดีไปว่าการรู้จักออม และสร้างนิสัยการลงทุนให้แข็งแกร่ง เพื่อชนะเงินเฟ้อให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีเงินเลี้ยงตัวเองเมื่อแก่ตัวลง