สุดอื้อฉาว! ผลสอบพบพนักงาน GGC ร่วมโกงสต๊อกหาย 2.1 พันล้านบาท

สุดอื้อฉาว! ผลสอบพบพนักงาน GGC ร่วมโกงสต๊อกหาย 2.1 พันล้านบาท

สุดอื้อฉาว! ผลสอบพบพนักงาน GGC ร่วมโกงสต๊อกหาย 2.1 พันล้านบาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีที่ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อและเก็บรักษาไว้เป็นวัตถุดิบคงคลัง โดยพบว่าจำนวนวัตถุดิบของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ไม่ตรงกับสินค้าคงคลังที่เป็นจริง สร้างความเสียหายให้กับบริษัทมูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาทนั้น

>> เหลือเชื่อ! GGC พบทุจริตสต๊อกหายมโหฬาร 2.1 พันล้านบาท

ล่าสุด บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงผลการตรวจสอบกรณีดังกล่าว พบว่าเป็นการกระทำอันมิชอบร่วมกันระหว่างคู่ค้าบางรายกับพนักงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของบริษัท รวมถึงส่วนที่บริษัทจัดส่งไปให้คู่ค้า เพื่อทำการจ้างกลั่น แต่คู่ค้าไม่ได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่จ้างกลั่นให้ตามสัญญาและไม่ส่งมอบคืนวัตถุดิบให้บริษัทด้วย อย่างไรก็ตาม การประเมินมูลค่าความเสียหายในวงเงินประมาณ 2,100 ล้านบาทนั้น อาจจะลดลงต่ำกว่านั้นได้ หากสามารถทวงถามวัตถุดิบที่ยังไม่ได้ส่งมอบกลับมาได้ 

เบื้องต้นบริษัทเริ่มดำเนินการทางกฎหมายตามมติคณะกรรมการกับผู้ที่เกี่ยวข้องแจ้งความดำเนินการเอาผิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 รวมถึงได้สอบวินัยกับพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องควบคู่กันไปด้วย ตลอดจนให้นโยบายการปรับปรุงการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว โดยเน้นลดระดับการพึ่งพาบุคคลภายนอก 

GGC ระบุว่า ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการจัดการด้านวัตถุดิบคงคลังนั้น เนื่องจากสินค้าหลักของบริษัท คือ เมทิลเอสเทอร์และแฟตตี้แอลกอฮอล์ ซึ่งวัตถุดิบที่จะต้องใช้ คือ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และน้ำมันเมล็ดในปาล์มบริสุทธิ์ โดยทั่วไปบริษัทอาจจัดหาวัตถุดิบเป็นน้ำมันบริสุทธิ์พร้อมใช้งานแล้ว หรือวัตถุดิบที่ต้องไปผ่านกระบวนการสกัด หรือกลั่นให้บริสุทธิ์ก่อนใช้งาน เช่น เมล็ดในปาล์ม น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบ หากเป็นกรณีหลังบริษัทต้องส่งวัตถุดิบดังกล่าวไปยังโรงสกัด หรือโรงกลั่นที่บริษัทว่าจ้างเพื่อทำให้บริสุทธิ์ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการผลิตของบริษัท  บริษัทมีความจำเป็นต้องเก็บวัตถุดิบบางส่วนไว้ภายนอก ซึ่งเป็นส่วนที่บริษัทพบปัญหาต่อวัตถุดิบคงคลังดังกล่าว

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ปริมาณวัตถุดิบคงคลังในระบบสูงกว่าปริมาณที่มีอยู่จริงในสถานที่จัดเก็บนั้น เกิดขึ้นจากการที่บริษัทสั่งซื้อวัตถุดิบจำนวนหนึ่งและทำการลงบันทึกในระบบของบริษัทว่าได้รับมอบวัตถุดิบมาเป็นวัตถุดิบคงคลังแล้วตามปริมาณที่สั่งซื้อ แต่ในความเป็นจริงไม่มีการส่งมอบวัตถุดิบหรือส่งมอบเพียงบางส่วน โดยเป็นการกระทำอันมิชอบร่วมกันของคู่ค้าบางรายกับพนักงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของบริษัท ทั้งนี้ ยังรวมถึงส่วนที่บริษัทจัดส่งวัตถุดิบให้คู่ค้าเพื่อจ้างกลั่น แต่ปรากฎภายหลังว่าคู่ค้าไม่ได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่จ้างกลั่นให้ตามสัญญาและไม่ส่งมอบคืนวัตถุดิบให้บริษัทด้วย  ผลจากเหตุการณ์นี้ทำให้บริษัทจ่ายค่าวัตถุดิบโดยไม่ได้รับมอบ รวมถึงไม่ได้รับคืนวัตถุดิบที่จัดส่งไปยังคู่ค้า ซึ่งประเมินไว้ว่าอยู่ในวงเงินประมาณ 2,100 ล้านบาท ซึ่งค่าเสียหายของบริษัทจะลดลงต่ำกว่า 2,100 ล้านบาทที่ประเมินไว้ โดยบริษัทมีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะเรียกคืนเงินค่าวัตถุดิบที่ได้ชำระไปโดยไม่มีการส่งมอบวัตถุดิบ หรือสามารถทวงถามให้มีการส่งมอบวัตถุดิบที่ยังไม่ได้มีการส่งมอบ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

นอกจากนี้ ยังมีกรณีการเรียกเก็บเงินที่บริษัทได้รับแจ้งจากบุคคลภายนอกที่ได้รับโอนสิทธิการรับชำระเงินค่าวัตถุดิบไปจากคู่ค้าบางราย ซึ่งบริษัทได้พิจารณาจากเอกสารที่ได้รับแจ้งมาแล้วพบว่าเป็นเอกสารที่ไม่อยู่ในระบบของบริษัท และไม่พบหลักฐานการส่งมอบวัตถุดิบตามที่ระบุในเอกสารดังกล่าว ซึ่งที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทมีความเห็นว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมาย บริษัทไม่น่าจะมีหน้าที่ที่จะต้องชำระเงินค่าวัตถุดิบ หากไม่มีการส่งมอบวัตถุดิบให้แก่บริษัทตามที่มีการเรียกให้ชำระราคาดังกล่าว เว้นแต่จะมีข้อเท็จจริงชี้ชัดเป็นอย่างอื่น บริษัทจึงได้สั่งการให้ที่ปรึกษากฎหมายทำการศึกษาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้แน่ชัด เพื่อที่บริษัทจะได้ดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อไป

การพบข้อมูลว่าวัตถุดิบคงคลังมีปริมาณที่ขาดหายไปอย่างมีนัยสำคัญนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการบริษัทเร่งรัดให้ฝ่ายจัดการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการวัตถุดิบคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ช่วงประมาณกลางปี 2560 แต่ในปี 2560 บริษัทไม่พบข้อมูลที่บ่งชี้ว่าปริมาณวัตถุดิบคงคลังขาดหายไป ต่อมาเดือนมิถุนายน 2561 ภายหลังจากที่ได้รับรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาวัตถุดิบและได้มีมติให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาตรวจพบในกระบวนการจัดหาวัตถุดิบต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึกเพิ่มและรายงานผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ GGC ปรับปรุงการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวในอนาคต โดยเน้นการลดระดับการพึ่งพาบุคคลภายนอก และปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของบริษัทและผู้เชี่ยวชาญอยู่ระหว่างร่วมกันดำเนินงาน เช่น ปรับปรุงขั้นตอนการประเมินการควบคุมภายในของกระบวนการจัดหาวัตถุดิบและการบริหารสินค้าคงคลัง ซึ่งคาดว่าจะสรุปความเห็นและประเด็นที่ตรวจพบได้ภายในประมาณต้นเดือนสิงหาคม 2561 

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ สุดอื้อฉาว! ผลสอบพบพนักงาน GGC ร่วมโกงสต๊อกหาย 2.1 พันล้านบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook