"กรมบัญชีกลาง" รวบ 26 สวัสดิการรัฐแจกเงินจ่ายผ่าน "บัตรคนจน"
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ในปี 2562 กรมบัญชีกลางจะนำเบี้ยยังชีพคนชรา จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data เพื่อช่วยให้รัฐบาลสามารถออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยได้ตรงจุด และแม่นยำมากขึ้น
ปัจจุบันรัฐบาลมอบสวัสดิการกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ จำนวน 44 สวัสดิการ แบ่งเป็น แจกเงิน 26 สวัสดิการ และอีก 18 สวัสดิการ แจกเป็นสิ่งของ อย่างไรก็ตาม แผนงานที่กรมบัญชีกลางจะนำสวัสดิการที่เป็นตัวเงิน โอนเงินเข้าไปในบัตรสวัสดิการฯ โดยเลือกสวัสดิการที่สำคัญๆ และเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากก่อน โดยในปี 2561 ได้นำบัตรทอง หรือ 30 บาท รักษาทุกโรค ส่วนปี 2562 จะนำเรื่องเบี้ยยังชีพคนชรา
เบี้ยคนชรา บริหารจัดการภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. มีผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิประมาณ 9 ล้านคน โดยผู้มีอายุ 60 – 69 ปี ได้รับเดือนละ 600 บาท อายุ 70 – 79 ปี เดือนละ 700 บาท อายุ 80 – 89 ปี เดือนละ 800 บาท และอายุ 90 ปีขึ้นไปได้รับ 1,000 บาท รวมเป็นเบี้ยคนชราที่จ่ายต่อปี 70,000 ล้านบาท
ทั้งนี้เมื่อนำข้อมูลเบี้ยคนชรา รวมกับข้อมูลประชาชนที่มาลงทะเบียนขอรับสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีผู้มีรายได้น้อยมาลงทะเบียน 11.4 ล้านคน แบ่งเป็นประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จำนวน 8.3 ล้านคน ซึ่งมีอายุเกินกว่า 60 ปี จำนวน 3 ล้านคน ขณะเดียวกันผู้ที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 – 100,000 บาทต่อปี มีอยู่ 3.1 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน และมีจำนวนผู้สูงอายุในกลุ่มนี้ 200,000 – 300,000 คน
ในปี 2562 กระทรวงการคลังมีแนวโน้ม ที่จะลดให้สิทธิประชาชนที่ถือบัตรทอง ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี จำนวน 11.4 ล้านคนยังคงสิทธิของบัตรทองไว้เหมือนเดิมส่วนประชาชนที่มีรายได้เกินกว่า 100,000 บาทต่อปี สิทธิในบัตรทองก็ควรที่จะลดลงหากมีฐานะดีหรือร่ำรวย เช่น จ่ายเอง 10% บัตรทองจ่ายให้ 90% หรือจ่ายเงินเอง 20% บัตรทองจ่ายให้ 80% เป็นต้น ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระเงินงบประมาณไปปีละนับแสนล้านบาท
>> เว็บตรวจผลลงทะเบียนบัตรคนจน 3 เว็บ แค่พิมพ์เลขบัตรประชาชน 13 หลัก