รวม 5 เหตุผลที่วิศวกรควรเป็นซีอีโอ

รวม 5 เหตุผลที่วิศวกรควรเป็นซีอีโอ

รวม 5 เหตุผลที่วิศวกรควรเป็นซีอีโอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

MBA คือหลักสูตรยอดนิยมของผู้บริหาร แต่ถ้าวัดกันจากสถิติในโลกของผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพแล้ว เราอาจต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะผลสำรวจโดย Identified บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้าน big data และการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งได้ทำการดึงข้อมูลจาก Facebook จำนวน 36 ล้านโพรไฟล์ เพื่อหาแนวโน้มการจ้างงาน พบว่า บริษัทใหม่ๆ มีผู้ก่อตั้ง หรือซีอีโอที่มีแบ็คกราวด์สายวิศวกรรม มากกว่ากลุ่มที่จบ MBA ที่จำนวน 3,337 ต่อ 1,016 บริษัท หรือคิดเป็นอัตราส่วน 3:1 เลยทีเดียว

เหตุผลหนึ่ง เป็นเพราะบริษัทใหม่ๆ หรือสตาร์ทอัพในปัจจุบัน มีจุดตั้งต้นจากการนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาต่างๆ ก่อนต่อทำธุรกิจ

ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีต ตั้งแต่ Henry Ford, Alexander Graham Bell เรื่อยมาถึง Elon Musk ในปัจจุบัน

จะเห็นว่าซีอีโอ หรือผู้ประกอบการหลายๆ คน มีพื้นฐานด้านวิศวกรรมอยู่ในตัวแล้ว แต่ตัดสินใจเลือกทำงานในสายบริหารแทน

ซีอีโอคนไหนบ้างมีพื้นฐานจากวิศวะ?

Bill Gates
สนใจเรื่องคอมพิวเตอร์และการเขียนโปรแกรม ตั้งแต่อายุ 13 ปี โปรแกรมแรกที่เจ้าตัวเขียนก็คือเกม XO ก่อนจะเข้าเรียนที่ฮาร์วาร์ดในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ แม้สุดท้ายจะดร็อปออกมาตอนปีสอง เพื่อก่อตั้ง Microsoft ร่วมกับ Paul Allen

Jeff Bezos
ชายที่รวยที่สุดในโลก ใช้เวลาในช่วงวัยรุ่นซ่อมสร้างสิ่งต่างๆในโรงนาของคุณตา ก่อนจะจบจากพรินซ์ตันในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า และวิทยาการคอมพิวเตอร์ แม้จะเลือกทำงานในสายการเงินอยู่หลายปี แต่สุดท้ายเจ้าตัวก็ออกมาตั้งกิจการของตัวเอง เพราะเชื่อในพลังของอินเตอร์เน็ต

Elon Musk
Musk หลงใหลในคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เด็ก และเริ่มหัดเขียนโปรแกรมเองจนกลายเป็นเกมที่ชื่อ Blaster ตอนอายุ 12 และขายไปในราคา 500 ดอลลาร์ จบปริญญาตรีสองใบรวดจากสาขาธุรกิจและฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และเลือกตั้งบริษัทของตัวเองเพื่อทำธุรกิจแทนการเรียนต่อระดับปริญญาโท

Sundar Pichai
จบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมโลหการ (metallurgical engineering) จากอินเดีย และปริญญาโทวัสดุศาสตร์ (materials science) จากสแตนฟอร์ด และได้รับมอบหมายให้ดูแลผลิตภัณฑ์ของ Google ทั้ง Chrome, Gmail, Maps และ Android จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นซีอีโอ เมื่อสามปีก่อน

นอกจากกลุ่มนี้แล้ว Larry Page ซีอีโอ Alphabet, Tim Cook ซีอีโอ Apple หรือ Satya Nadella ของ Microsoft ก็ล้วนแต่มีพื้นจากการเป็นวิศวกรทั้งนั้น

นั่นแปลว่าตัวเลขสถิติที่ยกขึ้นมาพูดนั้น ไม่ได้ขึ้นกับเทรนด์สตาร์ทอัพอย่างเดียว

แต่เป็นเพราะคนที่มีพื้นฐานด้านวิศวกรรม มีทักษะบางอย่างที่นำมาปรับใช้ในงานบริหารได้นั่นเอง

1.ใส่ใจในทุกรายละเอียด

ahead1

ลักษณะงานของวิศวกรนั้นต้องเป๊ะทุกเรื่อง การรีบทำงานแบบ “แค่นี้ก็พอแล้ว” จึงไม่เพียงพอ เพราะข้อบกพร่องเพียงเล็กน้อย ก็อาจก่อตัวจนลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ตามมาในภายหลัง

และหากเป็นผลิตภัณฑ์ดิจิทัล ยังต้องนำแนวคิดเรื่อง UX และ UI มาใช้ด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความพอใจสูงสุด

ซีอีโอที่มีแนวคิดแบบวิศวกร จึงให้ความสำคัญกับการออกแบบ และความสมบูรณ์แบบ

“วิศวกรรมศาสตร์ สอนให้คุณสร้างสิ่งที่ใช้งานได้จริง ไม่ว่ามันจะเป็นเครื่องจักร อาคาร หรือแม้แต่องค์กร” Nitin Nohria คณบดีของ Harvard Business School กล่าว

Tim Cook ของ Apple คือตัวอย่างของซีอีโอที่มาพร้อมคุณสมบัตินี้

แม้ภาพลักษณ์ภายนอกจะดูสุขุม ไม่โวยวายออกสื่อ แต่เมื่อถึงเวลาตามงาน “ก็ต้องได้งานตามต้องการ”

เขามักเรียกประชุมมาราธอนนานหลายชั่วโมง ถามทุกคำถามเพื่อให้ได้คำตอบ และส่งอีเมลตามจิกพนักงานที่รับผิดชอบเรื่องนั้นๆ “ตลอดเวลา”

 2.กระหายความเป็นเลิศ

ahead2

Larry Gadea ผู้ก่อตั้งและบริษัทซอฟต์แวร์ Envoy อธิบายว่าบุคลิกของวิศวกร มีแนวโน้มที่จะหมกมุ่นกับการสร้าง สิ่งที่ดีกว่า เร็วกว่า และถูกกว่า อยู่เสมอ

และนั่นคือคุณสมบัติสำหรับผู้นำที่ต้องการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้า “ผลลัพธ์ที่เป็นเลิศ คือสิ่งที่คอยกระตุ้นให้วิศวกรรู้สึกเลือดสูบฉีดตลอดเวลา และถ้าสามารถนำไปใช้ในเชิงธุรกิจได้ ก็จะยิ่งดีมาก”

ขณะที่ผู้บริหารบางคนอาจจะยึดติดกับแนวคิดที่ว่า “อะไรไม่เสียก็อย่าไปซ่อม” แต่สำหรับซีอีโอที่มีบุคลิกของวิศวกรอยู่ “ไม่เคยมีคำว่า หยุด หรือ พอ ในความคิด”

เหมือนที่ Elon Musk ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ และพยายามหาไอเดียใหม่ๆที่จะผลักดันโครงการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมาอยู่เสมอ

3.คิดไว ทำไว

ahead3

นอกจากจะเป็นคนช่างสังเกตในการสอดส่ายสายตาหาข้อผิดพลาดแล้ว เมื่อพบต้นตอของปัญหาแล้ว วิศวกรมักจะไม่ลังเลในการลงมือแก้ไขทันที

เพราะคนเหล่านี้รู้ว่าหากปล่อยไว้ มันจะติดอยู่ในความคิดของเขาไปตลอด

เช่นกัน ในฐานะซีอีโอ ก็มักจะต้องหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพื่อควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และหาทางป้องกันไม่ให้ลุกลาม หรือเกิดเรื่องเสียหายตามมา

เหมือนกรณีของ Satya Nadella ที่รีบผ่าตัดโครงสร้างองค์กรของ Microsoft ทันที ทั้งเรื่องกรอบความคิดที่ยึดติดกับผลิตภัณฑ์เดิมๆตลอด

จนสามารถพลิกฟื้นองค์กรจากยักษ์หลับที่ตกยุค จนกลายมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีแถวหน้าของวงการได้อีกครั้ง ด้วยการจับตลาดคลาวด์เซอร์วิสแทน

4.เชื่อมั่นในไอเดีย

ahead4

ความเชื่อมั่นในตัวเองและสิ่งที่คิด เป็นคุณสมบัติสำคัญสำหรับการเป็นผู้นำองค์กร

เพราะหลายครั้งที่คุณมาพร้อมกับไอเดียใหม่ๆที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน คุณจะต้องเจอกับคำทัดทานจากคนรอบข้างว่าเป็นไปไม่ได้

เช่นเดียวกับเสียงตำหนิหรือเสียงวิจารณ์ที่เกิดขึ้นเสมอ

แต่ผู้นำองค์กรที่มีคุณสมบัติอย่างการคิดวิเคราะห์ ทักษะการจัดระเบียบ และความสามารถในการแก้ปัญหาจากอาชีพวิศวกร ก็มีแนวโน้มที่จะยังยึดมั่นในแนวทางที่ตนคิด เพื่อนำองค์กรมุ่งหน้าสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

เหมือนที่ Bill Gates เชื่อว่าซอฟต์แวร์สำคัญกว่าฮาร์ดแวร์ ในยุคแรกของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

ทั้งที่ทุกองค์กรคิดแต่จะผลิตฮาร์ดแวร์ แต่กลับไม่ให้ความสำคัญกับระบบปฏิบัติการที่เป็นหัวใจของเครื่อง

จนสุดท้าย ซอฟต์แวร์ที่พวกเขาขายไลเซนส์ให้กับ IBM และบริษัทอื่นๆ ก็กลายเป็นห่านที่ออกไข่ทองคำให้พวกเขากอบโกยต่อเนื่อง จน Gates กลายเป็นชายที่รวยที่สุดในโลกติดต่อกันนานนับทศวรรษ

5.ไม่เจ็บคอ แต่ไม่พูดเยอะ

ahead5

การสื่อสารในฐานะซีอีโอและวิศวกรก็มีความเชื่อมโยงกันอยู่ นั่นคือต้องเรียบง่าย มีประสิทธิภาพ และชัดเจน

คือไม่จำเป็นต้องพูดย้ำบ่อยครั้ง แต่สามารถทำให้อีกฝ่ายเข้าใจได้ในทันที

จากเรื่อง UX และ UI ในอินเตอร์เฟสที่ต้องใส่ใจ จึงกลายมาเป็นการหาวิธีสื่อสารที่รัดกุม เพราะการพูดคุยกับคนนั้น มีตัวแปรและปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาดได้ง่ายกว่า

หนึ่งในวิธีลดตัวแปรที่ว่า ก็คือทฤษฎี “พิซซ่าสองถาด” ของ Jeff Bezos

ที่เชื่อว่าทีมไหนที่ใหญ่เกินกว่าพิซซ่าสองถาดจะเลี้ยงได้หมด ถือว่าใหญ่เกินไป เพราะเจ้าตัวถือคติที่ว่า “มากคนก็มากความ”

หากปล่อยให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานเท่านั้น

‘การสื่อสารเป็นสัญลักษณ์ของความบกพร่อง มันชี้ให้เห็นว่าคนในทีมไม่ได้ทำงานประสานกันเป็นหนึ่งเดียว นี่คือวิธีช่วยให้แต่ละทีมพูดคุยกันน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้’

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook