เกษตรกรดีใจน้ำตาไหล! มติคณะรัฐมนตรีไฟเขียวปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร
![เกษตรกรดีใจน้ำตาไหล! มติคณะรัฐมนตรีไฟเขียวปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร](http://s.isanook.com/mn/0/ud/120/601545/farm.jpg?ip/crop/w1200h700/q80/jpg)
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบแนวทางแก้ไขและปรับโครงสร้างหนี้สินให้แก่เกษตรกร สมาชิกกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กลุ่มแรก 36,605 รายและเป็นกลุ่มค้างชำระหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) ยอดหนี้เงินต้น 6,382 ล้านบาท ภาระดอกเบี้ยค้างชำระ 3,829 ล้านบาท โดยเป็นเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายกองทุนฟื้นฟูฯ
โดยสนับสนุนงบประมาณเพื่อชดเชยให้ ธ.ก.ส. ด้วยการพักหนี้เงินต้นร้อยละ 50 หยุดชำระหนี้ไว้ก่อน จากนั้นนำมาปรับโครงสร้างหนี้ในส่วนที่เหลือครึ่งหนี่งของหนี้เงินต้น คิดดอกเบี้ย MRR-3 เงินต้นที่เหลือผ่อนชำระ 15 ปี วงเงินหนี้ 2.5 ล้านบาทต่อราย ส่วนภาระดอกเบี้ยที่เหลือร้อยละ 50 ยกหนี้ให้ไม่ต้องชำระหากผ่อนชำระได้ตามกำหนด จึงเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการช่วยเหลือ
โดยแผนช่วยเหลือครั้งนี้ ไม่คำนวณรวมเป็น NPLs เพื่อการประเมินผลตามบันทึกข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจและเป็นโครงการที่ต้องแยกเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) ให้แก่ ธ.ก.ส. และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร ตามระเบียบที่กำหนด
ทั้งนี้ เกษตรกรที่มีสิทธิยื่นคำขอขึ้นทะเบียนหนี้ต้องมีคุณสมบัติ คือ
1) เป็นเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
2) เป็นสมาชิกองค์กรเกษตรกร
3) มีหนี้ที่เกิดจากการทำเกษตรกรรม และ
4) เป็นหนี้ในระบบตามที่กฎหมายกำหนด หนี้โครงการส่งเสริมของรัฐ หนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินประเภทธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือนิติบุคล และหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันเกษตรกร
โดยเปิดให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม – 13 ตุลาคม 2561 เป็นระยะเวลา 60 วัน ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรทั่วประเทศ
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ลูกหนี้เกษตรกรที่เข้าข่ายรับการช่วยเหลือ ต้องเป็นหนี้ NPL เกิน 3 ปีมาแล้ว เพื่อไม่ให้หยุดจ่ายหนี้เพื่อหวังได้รับการช่วยเหลือ และหากปรับโครงสร้างหนี้แล้วยังผิดนัดชำระหนี้ ธ.ก.ส.ปรับเบี้ยผิดนัดชำระ คิดดอกเบี้ย MRR+3 และเบี้ยปรับอีกร้อยละ 3 เมื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ของ ธ.ก.ส.แล้วจะขยายแผนการช่วยเหลือไปยังธนาคารพาณิชย์ หรือสหกรณ์อื่นเพิ่มเติมภายหลัง เมื่อช่วยเหลือลูกค้าของ ธ.ก.ส.ได้ผลสำเร็จแล้ว