ห้างใหญ่โวย! เตรียมอุทธรณ์จุด “แวตรีฟันด์” นักท่องเที่ยว
นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดแถลงข่าวชี้แจงโครงการทดลองคืน แวต รีฟันด์ แก่นักท่องเที่ยว ว่า จากที่กรมสรรพากรประกาศรับสมัครผู้ประสงค์ให้บริการเป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว โดยรับสมัครตั้งแต่วันที่ 10-17 กันยายน 2561 และมีผู้ได้รับอนุมัติเพียงรายเดียว คือ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด โดยมีให้บริการเพียง 3 จุด คือสาขาลิโด้ สาขาแบงค์ค๊อกไนท์บาร์ซาร์ และสาขา ผดุงด้าว (เยาวราช)
ซึ่งกรณีดังกล่าวส่งผลให้บริษัทร่วมทุนที่จดทะเบียนในนาม แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ประกอบด้วย ห้างเซน ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ห้างเซ็นทรัลชิดลม ดิเอ็มโพเรียม โรบินสันสุขุมวิท และ สยามพารากอน ที่เตรียมความพร้อมให้บริการเคาน์เตอร์แวตรีฟันด์ฟอร์ทัวร์ริสต์ไว้เรียบร้อยแล้ว พลาดโอกาสให้บริการนักท่องเที่ยวไป ซึ่งได้เตรียมความพร้อมร่วมกันกับกรมสรรพากรมาเกือบปี และรับทราบแต่แรกแล้วถึงเหตุผลว่าทำไมจึงยื่น 5 จุด และหากไม่ผ่านคุณสมบัติ เหตุใดจึงไม่แจ้งตั้งแต่ตอนยื่นเรื่องในครั้งแรก ซึ่งการกำหนด 5 จุด ก็เพื่อตอบโจทย์ในการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว และเพื่อผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ
นายวรวุฒิ กล่าวว่า สาเหตุหลักทำให้บริษัทไม่ผ่านการอนุมัติ คาดว่า คือการเสนอจุดคืนภาษีไป 5 จุด และการไม่ใช้แบบฟอร์มที่แนบมา เนื่องจากช่องใส่รายละเอียดมีเพียง 3 จุด แต่ที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรกคือ 5 จุด จึงจำเป็นต้องใส่เพิ่มเอง ทำให้ผิดหลักเกณฑ์ข้อกำหนดที่กรมสรรพากรต้องการไม่เกิน 3 จุด จากประกาศในเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา
โดยเริ่มให้ผู้ประกอบการยื่นอนุมัติเป็นตัวแทนได้ระหว่างวันที่ 10-17 กันยายน จึงทำให้ทางบริษัท ซึ่งเดิมทำงานร่วมกับกรมสรรพากรมาตั้งแต่ต้นปี 2561 และมีการตกลงในรายละเอียดการยื่นพิจารณาได้ 5 จุดจนจดทะเบียน กลายเป็นบริษัทร่วมทุนกันเรียบร้อยแล้ว ไม่สามารถไปยื่นขอจดทะเบียนใหม่เป็นนิติบุคคลที่ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ 15 วันได้ทันกับช่วงเวลายื่นขออนุมัติของกรมสรรพากร
นายวรวุฒิ กล่าวว่า สำหรับ 5 จุดยุทธศาสตร์แหล่งช้อปปิ้งเป็นคำตอบที่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ เพราะเป็นแหล่งที่มีร้านค้าจดทะเบียน แวต รีฟันด์ ฟอร์ ทัวร์ริสต์ มากที่สุด จึงช่วยลดความแออัดให้กับนักท่องเที่ยวในสนามบิน ได้เป็นอย่างดี ซึ่งร้านค้าขนาดเล็กอาจไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าใน 5 จุด ได้รับอนุญาตให้ออกใบกำกับภาษีแก่นักท่องเที่ยว (ภ.พ. 10) ตามที่กรมสรรพากรกำหนด และมีระบบในการออกใบ ภ.พ. 10 อยู่แล้ว จึงสามารถออกใบ ภ.พ 10 ได้ดีกว่า ร้านค้าขนาดเล็กที่ไม่ได้เข้าอยู่ในระบบการออกใบกำกับภาษีแก่นักท่องเที่ยว โดยข้อจำกัดของพื้นที่ร้านค้าขนาดเล็กให้บริการที่ไม่สามารถรองรับคนได้จำนวนมาก ซึ่งอาจสร้างความไม่สะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่อาจต้องต่อคิวรอเป็นเวลานาน
นายวรวุฒิกล่าวว่า การขายสินค้าและบริการของห้างสรรพสินค้า มีขั้นตอนและกระบวนการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวอย่างครบวงจร จนถึงการออกใบกำกับภาษีสำหรับนักท่องเที่ยว (ภ.พ. 10) ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวยื่นแบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว (ภ.พ. 10) มากกว่า 900,000 ใบต่อปีในบริเวณ 5 จุดดังกล่าว คิดเป็น 60% ของปริมาณการขอใบ ภ.พ.10 ทั่วประเทศ เมื่อนักท่องเที่ยวได้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในสกุลเงินบาท ก็จะจับจ่ายใช้สอยต่อเนื่อง
“คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจอีกกว่า 4,000 ล้านบาทในช่วงการทดลอง 6 เดือนนี้ ซึ่งหากได้หนังสืออย่างเป็นทางการจากกรมสรรพกร จะยื่นอุทธรณ์ต่อไป เพราะเบื้องต้นบริษัทฯ ผ่านคุณสมบัติทุกประการ จุดที่กำหนดร่วมก็ เป็นแหล่งที่มีนักท่องเที่ยวหนาแน่น และเป็นที่รู้จัก อีกทั้งยังสะดวกในการเดินทางมากกว่า เพราะเชื่อมเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งหมด หากยื่นอุทธรณ์ก็ยังยืนยันต้องมี 5 จุดเช่นเดิม”นายวรวุฒิ กล่าว
นายวรวุฒิ กล่าวถึงสถานการณ์การค้าปลีกไทยว่า ในไตรมาสสุดท้ายจะยังทรงตัวอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 3.9% ต่อไป ถึงแม้ว่ากำลังซื้อของประชาชนจะเริ่มฟื้นตัวมากขึ้นแล้วก็ตาม ประเมินได้จากการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งคนต่างจังหวัดก็เริ่มใช้จ่ายดีมากขึ้น แต่หากยังไม่สามารถเริ่มโครงการแวต รีฟันด์ เพื่อคืนภาษีให้กับนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งโครงการนี้เป็นการกระตุ้นการซื้อสินค้าในประเทศไทยมากขึ้น คาดการณ์ว่าการค้าปลีกของไทยจะยังทรงตัวต่อไปอย่างต่อเนื่องจนถึงปีหน้า ซึ่งสวนทางกับตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยเป็นอย่างมาก