ถอดบทเรียน เลือดข้นคนจาง กับ "4 หลุมพรางของการส่งต่อสินทรัพย์"
“4 Pitfalls of Wealth Distribution”
ที่ดิน 1 ไร่ มีลูก 4 คน ลูก 2 คนอยู่ดูแลคุณ อีก 2 คนแต่งงานออกไปแล้ว
คุณจะแบ่งสินทรัพย์นี้อย่างไร ? แบ่งเท่ากัน 4 คน หรือ จะแบ่งให้แค่ 2 คนที่ดูแลคุณ ?
เรามาดู กรณีศึกษาดังจาก Hong Kong –ห่านย่างร้านดัง Yung Kee
มีดราม่า ไม่แพ้ความขัดแย้งการแย่งมรดกในเมืองไทยเลย
ผู้ก่อตั้งแบ่งหุ้นดังนี้
- เมีย – 10%
- ลูกชายคนโต – 35% เป็นคนกุมอำนาจบริหาร
- ลูกชายคนที่ 2 – 35%
- ลูกชายคนที่ 3 – 10%
- ลูกผู้หญิง – 10%
ชีวิตก็น่าจะจบอย่างมีความสุข จนเกิดเหตุการณ์นี้
ลูกชายคนที่ 3 เสียชีวิต ทำพินัยกรรมยกหุ้นให้ลูกชายคนที่ 2
จำนวนหุ้นตอนนี้คือ
- เมีย – 10%
- ลูกชายคนโต -35%
- ลูกชายคนที่ 2 – 45%
- ลูกผู้หญิง – 10%
ลูกชายคนที่ 2 ต้องกุมอำนาจบริหารแทน ทะเลาะกับคนโต แม่ทุกข์ใจ เลยขายหุ้นให้คนโต
จำนวนหุ้นตอนนี้คือ
- ลูกชายคนโต -45%
- ลูกชายคนที่ 2 – 45%
- ลูกผู้หญิง – 10%
ลูกผู้หญิง ไม่สนใจธุรกิจ อยากไปเปิดร้านขายเสื้อผ้า ขายหุ้นให้คนที่ 2
จำนวนหุ้นตอนนี้คือ
ลูกชายคนโต -45%
ลูกชายคนที่ 2 – 55%
คำถามคือใครจะชนะ ใครจะเป็นผู้กุมอำนาจบริหาร
ทนายความไง !!!!
บทเรียนของการส่งต่อสินทรัพย์ของกรณีนี้ เรามาเรียนรู้ผ่านหลุมพรางของการส่งต่อมรดกกัน
หลุมพรางข้อที่ 1 ความเหมาะสมของผู้รับ
มีอะไรบ้างที่ต้องพิจารณา
อายุพร้อมหรือไม่
ถ้าให้มรดก 20 ล้านกับทายาทอายุ 10 ขวบ เขาคงไม่พร้อมกับการจัดการมรดก
ความมีวุฒิภาวะและความรู้ในการจัดการมรดก
แม้ทายาทอายุ 30 พร้อมรับ แต่ยังชอบเที่ยว ไม่ทำงาน ขาดวุฒิภาวะในการจัดการมรดก
สิ่งที่เจ้ามรดกจะให้ สวนทางกับ สิ่งที่ผู้รับอยากจะได้
ให้มรดกแก่ทายาท เป็นที่ดินที่ต่างจังหวัด แต่ทายาททำงานและมีครอบครัวที่กรุงเทพฯ ไม่ค่อยได้กลับบ้าน ที่ดินจึงเป็นสิ่งที่เขาไม่อยากได้
ปัจจัยเหล่านี้ เจ้าของสินทรัพย์จะต้องพิจารณาก่อนแบ่งและส่งต่อสินทรัพย์
ในกรณีของ Yung Kee ลูกผู้หญิงไม่มีความสนใจในมรดกที่ได้รับ
เมื่อไม่สนใจ วิธีสุดท้าย คือ ขาย ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อสัดส่วนการบริหารงานธุรกิจ
อีกทั้งลูกชายคนที่ 3 และ ลูกผู้หญิง อาจจะคิดว่า ลูกชายคนที่ 2 เหมาะสมกับการสืบทอดธุรกิจกว่าลูกชายคนโตก็ได้
ถ้าไม่คำนึกถึงความเหมาะสมของคนที่จะรับสินทรัพย์ ก็อาจจะตกหลุมพรางได้
หลุมพรางข้อที่ 2 ความยุติธรรมในการแบ่ง
ความยุติธรรม สำคัญมาก ถ้าไม่มีความยุติธรรมในการแบ่งสินทรัพย์ ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวมีปัญหา
ลูกชายได้เยอะกว่า ลูกผู้หญิง
ลูกคนโตได้มากกว่า ลูกคนเล็ก
ล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งปัญหาในอนาคต
การแบ่งสินทรัพย์ให้ยุติธรรม ไม่ใช่แค่แบ่งเป็นจำนวนชิ้นที่ได้รับ แต่ต้องพิจารณามูลค่าอีกด้วย
เช่น ทายาทคนที่ 1 ให้ที่ดิน 5 ไร่ แถวสาธร แต่ทายาทคนที่ 2 ให้ที่ดิน 10 ไร่แถวหนองคาย ทายาทคนที่ 2 คงรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมในการแบ่ง
ในกรณีของ Yung Kee ลูกชายคนที่ 3 และลูกสาว ได้คนละ 10% เท่านั้น ซึ่งดูแล้วไม่ยุติธรรมกับคนทั้งสอง
ถ้าไม่คำนึกถึงยุติธรรมของคนที่จะรับสินทรัพย์ ก็อาจจะตกหลุมพรางได้
หลุมพรางข้อที่ 3 สภาพคล่องของสินทรัพย์ที่เป็นมรดก
คุณมีทีดิน 10 ไร่อยู่ต่างจังหวัด ซึ่งตอนนี้ปลูกทุเรียนอยู่ ถูกแบ่งให้ลูกชาย 4 คน เท่ากัน แต่ลูกชายคนที่ 3 ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่สนใจกลับมาทำไร่ ดังนั้น เขาต้องการขายส่วนของเขาให้กับคนอื่นๆ แต่คนอื่นๆ ยังไม่มีเงินมากพอจะรับซื้อ จึงต้องไปกู้เงินมาให้
นี่คือปัญหาของสินทรัพย์ก้อนใหญ่ และไม่มีสภาพคล่องของสินทรัพย์
ยิ่งถ้าสินทรัพย์ โอนเป็นมรดกโดยแบ่งเป็นชื่อร่วมพี่น้องหลายคน ยิ่งพี่น้องบางคน ไม่สนใจในสินทรัพย์ที่ได้รับมา ปัญหาก็จะเกิดตามมาได้
ถ้าไม่คำนึกถึงสภาพคล่องของสินทรัพย์ที่เป็นมรดก ก็อาจจะตกหลุมพรางได้
หลุมพรางข้อที่ 4 การส่งต่อธุรกิจครอบครัว ไม่ใช่แค่โอนหุ้น
เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ก็มักจะโอนหุ้น คล้ายกับกรณีของ ห่านย่างร้านดัง Yung Kee แต่พอเวลาผ่านไป ยิ่งมีหลายรุ่น มีลูกเขย และ ลูกสะใภ้เข้ามายุ่งในกิจการ ทำให้ธุรกิจครอบครัวมีปัญหาได้
ดังนั้น การส่งต่อธุรกิจครอบครัวนั้นไม่ใช่แค่การโอนหุ้น จะมีความซับซ้อนมากกว่าส่งต่อสินทรัพย์ปกติ
วิธีการที่ถูกต้องคือการปรับโครงสร้างการถือหุ้นเป็น holding company และ ธรรมนูญครอบครัว
ถ้าคิดง่ายๆว่า แค่โอนหุ้นก็จบ ก็อาจจะตกหลุมพรางได้
ย้อนกลับไปที่คำถามของผม
ที่ดิน 1 ไร่ มีลูก 4 คน ลูก 2 คนอยู่ดูแลคุณ อีก 2 คนแต่งงานออกไปแล้ว
คุณจะแบ่งสินทรัพย์นี้อย่างไร ? แบ่งเท่ากัน 4 คน หรือ จะแบ่งให้แค่ 2 คนที่ดูแลคุณ ?
เป็นคุณจะแบ่งอย่างไร ?
ไม่ใช่เรื่องง่าย
ไม่ใช่แค่เสียชีวิตแล้วโอนสินทรัพย์
มันลึกซึ้งกว่านั้น
การทำแผน estate และการส่งต่อมรดก
ไม่จำเป็นต้องมีสินทรัพย์เยอะ แล้วค่อยว่างแผน
มีสินทรัพย์ไม่มาก ก็ต้องวางแผนได้ อย่าให้ลูกหลานต้องทำร้ายกัน