ช่อง 7 ครองแชมป์เรตติ้งทีวีดิจิทัล

ช่อง 7 ครองแชมป์เรตติ้งทีวีดิจิทัล

ช่อง 7 ครองแชมป์เรตติ้งทีวีดิจิทัล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. รายงานสภาพตลาดกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล เดือนกันยายน 2561 พบว่า ช่องรายการที่ได้รับความนิยมสูงสุด (เรตติ้ง) 10 อันดับแรก ได้แก่

อันดับ 1 ช่อง 7HD เรตติ้ง 1.866 อันดับ, 2 ช่อง 3HD เรตติ้ง 1.309, อันดับ 3 ข่อง MONO29 เรตติ้ง 0.917, อันดับ 4 ช่อง Workpoint TV เรตติ้ง 0.830, อันดับ 5 ช่อง ไทยรัฐ ทีวี เรตติ้ง 0.493, อันดับ 6 ช่อง ONE HD เรตติ้ง 0.484, อันดับ 7 ช่อง 8 เรตติ้ง 0.463, อันดับ 8 ช่อง 3SD เรตติ้ง 0.380, อันดับ 9 ช่อง Amarin TV HD เรตติ้ง 0.290 และอันดับ 10 ช่อง NOW เรตติ้ง 0.218

สำหรับเดือนกันยายน 2561 เรตติ้ง 10 อันดับแรกยังเป็นกลุ่มข่องรายการเหมือนเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี มีบางช่องรายการที่มีเรตติ้งสูงขึ้นจนส่งผลให้การจัดลำดับของช่องรายการมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มช่องความคมชัดสูง (HD) ซึ่งได้แก่ ช่อง 7HD ช่อง 3 HD ช่องไทยรัฐ ทีวี และช่อง Amarin TV HD มีรายระเอียดดังนี้

ละครพื้นบ้าน สังข์ทอง และละครเย็น เจ้าสาวช่างยนต์ เป็น 2 รายการยอดฮิต ประจำเดือนกันยายน 2561 ที่ทำให้เรตติ้งของช่อง 7HD พุ่งสูงขึ้น จากเดือนก่อนหน้า (สิงหาคม 2561) โดยละครสังข์ทองมีเรตติ้งเฉลี่ยประจำเดือนสูงถึง 7.708 และ เจ้าสาวช่างยนต์ ก็ได้รับความนิยมจากฐานผู้ชมละครเย็นอย่างสูง โดยมีเรตติ้งเฉลี่ยทั้งรายการ 5.579 (ออกอากาศ 13 สิงหาคม - 20 กันยายน 2561) และเรตติ้งเฉลี่ยประจำเดือนสูงถึง 6.258

-ละครหลังข่าว อังกอร์ เป็นม้ามืดช่วยดันเรตติ้งของช่อง 3HD ให้พุ่งสูงขึ้นจากเดือนสิงหาคม โดยเป็นละครช่วงไพรม์ไทม์ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วประเทศ โดยมีเรตติ้งเฉลี่ยทั้งรายการ 5.311 (ออกอากาศ 25 สิงหาคม - 21 กันยายน 2561) และเรตติ้งเฉลี่ยประจำเดือนสูงถึง 5.647

-การแข่งขันวอลเล่ย์บอลหญิง เอสเอ็มเอ็ม เอวีซีคัพ 2018 ได้กลายเป็นรายการ ได้กลายเป็นรายการถ่ายทอดสดกีฬาที่ช่วยดันช่องไทยรัฐ ทีวี ให้มีเรตติ้งสูงขึ้นจาก 0.424 (เดือนสิงหาคม) เป็น 0.493 ในเดือนกันยายน 2561 จนสามารถก้าวขึ้นสู่การตัดอันดับ Top 5 ได้สำเร็จ โดยแมตซ์การแข่งขันที่ได้รับความนิยมสูง ได้แก่ แมตซ์ระหว่างไทยและจีน เรตติ้ง 4.732 แมตซ์ระหว่างไทยและเกาหลีใต้ เรตติ้ง 3.643 แมตซ์ระหว่างไทยและออสเตรเลีย เรตติ้ง 3.608 และแมตซ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่น เรตติ้ง 3.473

-รายการ ทุบโต๊ะข่าว ออกอากาศทางช่อง Amarin TV HD เป็นรายการที่มีแฟนข่าวเฝ้าติดตามอย่างเนืองแน่น สม่ำเสมอ โดยในเดือนกันยายน 2561 มีเรตติ้งเฉลี่ยทั้งรายการ (ออกอากาศวันจันทร์-ศุกร์) 1.425 และ 1.346 สำหรับรายการที่ออกอากาศเสาร์-อาทิตย์

นายฐากร กล่าวว่า ส่วนกลุ่มช่องคมชัดปกติ (SD) ซึ่งได้แก่ ช่อง 8 ช่อง MONO 29 ช่อง 3SD และช่อง NOW มี่รายละเอียดดังนี้

-แฮรี่ พอตเตอร์ เป็นภาพยนตร์ยอดฮิตที่ได้รับความนิยมจากคอหนังอย่างท่วมท้น โดยเฉพาะตอน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน เรตติ้ง 4.373 และแฮรี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี เรตติ้ง 4.181 ซึ่งช่วยให้ช่อง MONO 29 มีเรตติ้งเฉลี่ยประจำเดือนสูงขึ้น และกลับมามีค่าความนิยมสูงสุดอันดับ 3 คืนจากช่อง Workpoint TV ได้สำเร็จ

-ละครเย็นเรื่อง พยัคฆา และละครอินเดีย พิฆเนศ มหาเทพไอยรา เป็นสองรายการที่ช่วยให้เรตติ้งช่อง 8 เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม ก่อนหน้านี้ โดยทั้ง 2 เรื่อง มีเรตติ้งเฉลี่ยประตำเดือน 1.518 และ 1.713 ตามลำดับ

-ละครรีรันของช่อง 3SD ถือว่าประสบความสำเร็จในการช่วยดันเรตติ้งของช่อง โดยเฉพาะในเดือนกันยายน 2561 ละคร ผู้กองยอดรัก มีเรตติ้งสูงถึง 2.672 นอกจากนี้ รายการข่าวนอกลู่ก็ได้รับความนิยมจากผู้ชมอย่างต่อเนื่อง โดยมีเรตติ้งเฉลี่ยประมาณ 2.054

-แม็ก มวยไทย, เดอะ แชมป์เปี้ยน, มวยไทยตัดเชือก, มวยไทยแบทเทิล และมวยไทยไฟต์เตอร์ เป็นซีรีส์รายการมวยที่ช่วยให้ช่อง NOW มีเรตติ้งเฉลี่ยสูงขึ้น และสามารถคงอยู่ในการจัดอันดับ Top 10 ได้

นายฐากร กล่าวอีกว่า สำหรับสภาพตลาดกิจการกระจายเสียงของไทยประจำเดือนกันยายน 2561 พบว่า จากข้อมูลจำนวนผู้รับฟังวิทยุคลื่นหลักในระบบเอฟ.เอ็ม. จำนวน 40 สถานี (87.5 MHz-107.0 MHz) จากทุกช่องทาง เช่น เครื่องรับวิทยุ โทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ในเขตพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล พบว่าในเดือนกันยายน 2561 มีประชากรไทยอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป รับฟังวิทยุ ประมาณ 10,554,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2561 ประมาณ 228,000 คน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 2.2

ทั้งนี้ จากข้อมูลพฤติกรรมการรับฟังวิทยุ พบว่า ถ้าแยกตามสถานที่ ผู้คนส่วนใหญ่ นิยมรับฟังวิทยุที่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 49.40 ตามมาด้วยการรับฟังวิทยุในรถ ร้อยละ 37.24 ในที่ทำงาน ร้อยละ 12.76 และอื่นๆ ร้อยละ 0.60 หากแยกการรับฟังวิทยุตามประเภทอุปกรณ์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังนิยมรับฟังวิทยุผ่านทางเครื่องรับวิทยุคิดเป็นร้อยละ 72.68 ตามมาด้วยการรับฟังผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ร้อยละ 25.63 และผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ร้อยละ 1.69

ในส่วนของมูลค่าโฆษณาผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงคลื่นหลักในระบบเอฟ.เอ็ม.ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 36 สถานี (88.0 MHz-91.5 MHz, 93.0 MHz-103.5 MHz และ 104.5 MHz-107.0 MHz พบว่า ในเดือนกันยายน 2561 มีมูลค่าโฆษณารวมประมาณ 401,783,000 บาท ซึ่งลดลงจากเดือนก่อน (สิงหาคม 2561) ประมาณ 388,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบการโฆษณาผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงของเดือนกันยายน 2561 กับปีก่อนหน้า พบว่า มีมูลค่าลดลงประมาณ 25 ล้านบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook