เปิดเม็ดเงินที่ขาดทุนจนชินชาของ “การบินไทย” ในวันที่เจอดราม่าแย่งที่นั่งผู้โดยสาร
การที่กัปตันการบินไทยสละสิทธิเดิมที่เคยมีจากการเดินทางในชั้น First Class ไปนั่งชั้นธุรกิจแทน ถือเป็นการเสียสละสิทธิเพื่อให้บริษัทมีรายได้เพิ่มมากขึ้น หลังการบินไทยขาดทุนสะสมจนชินชา
กลายเป็นประเด็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ทันที กรณีที่อดีตรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมด้วยภรรยา สละที่นั่งชั้น First Class ของเที่ยวบิน TG 971 เส้นทางจากนครซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ – กรุงเทพมหานคร เพื่อให้คณะนักบินที่เดิมทีนั่งชั้นธุรกิจโดยสารกลับกรุงเทพฯ ด้วย 4 คน ได้นั่งชั้นหนึ่ง จึงเป็นเหตุให้เครื่องบินดังกล่าวเกิดความล่าช้าในการเดินทางร่วม 2 ชั่วโมง
>> ฟังจากมุม "สามีภรรยา" ผู้ยอมสละที่นั่งการบินไทย จบดราม่าดีเลย์ 2 ชั่วโมง
จนล่าสุด นายสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย ระบุว่า กัปตันการบินไทยมีสิทธิที่จะเดินทางในชั้น First Class เพราะเป็นเงื่อนไขที่บริษัทตกลงว่าจ้าง ต่อมาถูกตัดสิทธิ์ให้สำรองที่นั่งในชั้นธุรกิจแทน ยกเว้นกรณีที่นั่งในชั้น First Class ว่างถึงจะไปนั่งได้ แม้จะรู้สึกเสียสิทธิที่เคยมี แต่ทุกคนก็ยอมเสียสละเพื่อให้บริษัทมีรายได้จากการขายตั๋วในชั้น First Class มาถึงปัจจุบัน
>> "กัปตันสนอง" ไขข้อสงสัย ทำไมนักบินการบินไทยถึงต้องนั่งชั้น First Class
หากพิจารณาถึงคำกล่าวของนายกสมาคมนักบินไทย ที่ระบุถึง การสละสิทธิในการเดินทางที่นั่งชั้น First Class เพื่อให้บริษัทมีรายได้จากการขายตั๋วมากขึ้น นั่นอาจจะสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของการบินไทยที่มีตัวเลขติดลบที่ไม่สวยงามนัก
หลายคนอาจทราบกันดีอยู่แล้วว่า การบินไทย สายการบินแห่งชาติ ขาดทุนมานานหลายปี แต่รู้หรือไม่ว่าสาเหตุของการขาดทุนมาจากอะไรบ้าง Sanook! Money ได้รวบรวมข้อมูลดีๆ มาฝากกัน
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2503 ดำเนินธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ ต่อมาบริษัทถูกแปรสภาพและถูกนำเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2535 โดยมีกระทรวงการคลัง ถือหุ้นอยู่ 51.03% กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 7.56% กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 7.56% บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ถือหุ้น 3.32% และธนาคารออมสิน ถือหุ้น 2.13% ปัจจุบันมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 29,904 ล้านบาท โดยมีผลประกอบการย้อนหลัง ดังนี้
ปี 2557 รายได้ 203,966 ล้านบาท ขาดทุน 15,611 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้ 192,723 ล้านบาท ขาดทุน 13,067 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 181,446 ล้านบาท กำไร 15.14 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 190,534 ล้านบาท ขาดทุน 2,107 ล้านบาท
นอกจากนี้ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังได้เปิดเผยผลการดำเนินงานในแต่ละไตรมาส ซึ่งเราจะเปรียบเทียบผลกำไร-ขาดทุน ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 จนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 และปี 2561 ดังนี้
ปี 2560
ไตรมาสที่ 1 (มกราคม-มีนาคม) รายได้ 49,804 ล้านบาท กำไร 3,157 ล้านบาท
ไตรมาสที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน) รายได้ 45,182 ล้านบาท ขาดทุน 5,211 ล้านบาท
ปี 2561
ไตรมาสที่ 1 (มกราคม-มีนาคม) รายได้ 53,466 ล้านบาท กำไร 2,717 ล้านบาท
ไตรมาสที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน) รายได้ 47,239 ล้านบาท ขาดทุน 3,098 ล้านบาท
หากพิจารณาผลประกอบการแต่ละไตรมาสจะพบว่า การบินไทยจะเข้าสู่ช่วงขาดทุนในไตรมาสที่ 2 ทันที ส่วนไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 ก็ขาดทุนเช่นกัน โดยการบินไทยได้แจ้งงบว่า มีรายได้ 46,928 ล้านบาท ขาดทุน 1,825 ล้านบาท และของปี 2561 อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเพื่อแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป
ส่วนสาเหตุของการขาดทุนในไตรมาสที่ 2 ของการบินไทยในปี 2561 มาจาก 3 ปัจจัยหลัก เช่น ค่าน้ำมันเครื่องบินที่สูงขึ้น, ค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่ รวมถึงค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยสามารถเทียบค่าใช้จ่ายของปี 2561 และ 2560 ดังนี้
ปี 2561 ค่าน้ำมัน 14,152 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,873 ล้านบาท (15.3%) เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีอยู่ 12,279 ล้านบาท
ปี 2561 ค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่ 3,696 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,023 ล้านบาท (8.3%) เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีอยู่ 2,673 ล้านบาท
ปี 2561 ค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยาน 4,914 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 370 ล้านบาท (8.1%) เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีอยู่ 4,544 ล้านบาท
หากพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายรวมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 อยู่ที่ 50,046 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,022 ล้านบาท (6.4%) มากกว่าปี 2560 ที่มีอยู่ 47,024 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2561 การบินไทยจะต้องเร่งทำแผนฟื้นฟูให้แล้วเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงเส้นทางการบิน การจัดซื้อเครื่องบินเพิ่ม เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการไว้ นับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากสำหรับ นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย หรือดีดี ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ไม่นาน
หลังจากนี้คงต้องติดตามว่า การบินไทย ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติจะสามารถพลิกทำกำไรให้กลับมาสดใสได้อีกครั้งหรือไม่