เข่าแทบทรุด! “นักบินการบินไทย” แห่ลาออกเหตุรายได้น้อย
รายงานข่าวจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า นักบินของการบินไทย ซึ่งปัจจุบันมีราว 1,200 คน กำลังทยอยลาออกอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าสายการบินอื่น ซึ่งในปี 2561 มีนักบินลาออกไปประมาณ 50 คน และในปี 2562 มีแผนทยอยลาออกเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อไปทำงานกับสายการบินต้นทุนต่ำ หรือ โลว์คอสต์ ที่มีการขยายเส้นทางและจัดซื้อเครื่องบินใหม่จำนวนมาก ที่สำคัญค่าตอบแทนสูงกว่าการบินไทย
โดยตั้งแต่ปี 2553 รวม 8 ปี มีนักบินลาออกไปแล้วกว่า 400 คน ซึ่งในช่วงปี 2559-2560 มีนักบินลาออกมากถึง 130 คน เนื่องจากระบบการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษ เช่น เบี้ยเลี้ยงบินต่างประเทศ และค่าทำงานล่วงเวลา หรือโอที ยังไม่เป็นธรรม ทำให้นักบินลาออกก่อนครบสัญญาว่าจ้าง หลายคนยอมให้บริษัทฟ้องเรียกค่าเสียหาย ต้องจ่ายค่าปรับถึงคนละ 5-6 ล้านบาท ซึ่งมีนักบินกว่า 100 คน ใช้วิธีการประนอมหนี้กับการบินไทย
สำหรับอัตราเงินเดือน นักบิน ของการบินไทยนั้นถือว่าน้อยหากเทียบกับสายการบินคู่แข่ง โดยอัตราเงินเดือนจะแยกออกจากเบี้ยเลี้ยงและค่าโอทีโดย สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1.กลุ่มผู้ช่วยนักบิน เงินเดือนเริ่มต้นเดือนละ 100,000-150,000 โดยมีการปรับเพิ่มขึ้นตามอายุงานที่เพิ่มขึ้น
2.นักบินทั่วไป เงินเดือนเริ่มต้นเดือนละ 250,000-350,000 บาท และนักบินบริหารรายได้จะสูงกว่านี้
หากเทียบกับสายการบินคู่แข่งยังถือว่าไม่มาก เช่น สายการบินนกแอร์ ค่าตอบแทนเดือนละ 379,000 บาท, ไทยสมายล์ ค่าตอบแทนเดือนละ 400,000 บาท, แอร์เอเชีย ค่าตอบแทนเดือนละ 460,000 บาท, ไลอ้อนแอร์ ค่าตอบแทนเดือนละ 476,000 บาท และบางกอกแอร์เวย์ส ค่าตอบแทนเดือนละ 490,000 บาท
แหล่งข่าวจากสมาคมนักบินไทย ระบุว่า นักบินที่เข้าทำงานในบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ก่อนปี 2548 รัฐบาลกำหนดให้บริษัทฯต้องรับภาระภาษีแก่นักบิน ส่วนนักบินที่เข้าทำงานในบริษัทฯ หลังปี 2548 จะต้องรับภาระภาษีเองเหมือนกับนักบินสายการบินทั่วไป
>> เปิดรายได้ "นักบิน" 7 อันดับสายการบินในไทยแห่งปี 2018
>> ยังบักโกรก! "การบินไทย" ผลประกอบการไตรมาส 3 ขาดทุนยับกว่า 3,600 ล้าน