ผ่านแล้ว! พระราชบัญญัติภาษีที่ดิน มีผลบังคับใช้ต้นปี 2563

ผ่านแล้ว! พระราชบัญญัติภาษีที่ดิน มีผลบังคับใช้ต้นปี 2563

ผ่านแล้ว! พระราชบัญญัติภาษีที่ดิน มีผลบังคับใช้ต้นปี 2563
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.. ต่อเนื่องในวาระสอง และวาระสาม ต่อจากวานนี้ 15 พฤศจิกายน ที่ประชุมได้ผ่านวาระพิจารณารายละเอียดรายมาตราตามที่กรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน กมธ.ไปแล้ว

ทั้งนี้ที่ประชุมลงมติเป็นรายมาตรา และอภิปรายกันเพิ่มเติมในบางประเด็น เป็นเวลา 2 ชั่วโมง โดยที่ประชุมได้ลงมติวาระสาม มีเสียงเอกฉันท์ 169 เสียง เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ใช้เป็นกฎหมายต่อไปโดย มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 1 มกราคม ปี 2563

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขอบคุณสมาชิกที่ผ่านความเห็นชอบ และย้ำว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ และโครงสร้างระบบภาษีทรัพย์สินจะสอดคล้องกับสากล สามารถอุดช่องว่างช่องโหว่ภาษีเดิม เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของที่ดิน และท้องถิ่นมีเงินไปใช้พัฒนาพื้นที่ และสร้างธรรมาภิบาลการมีส่วนร่วมในพื้นที่

สำหรับ เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ….  มีสาระสำคัญเพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินและกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ จำนวน 12 ฉบับ ให้รวมเป็นฉบับเดียวเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ ตามอัตราจัดเก็บภาษีที่ คณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัดกำหนด แต่หากมีปัญหา หรือต้องหาคำแนะนำ กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มี ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานเป็นผู้ดำเนินการ ร่างกฎหมาย กำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีที่สำคัญ คือ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประกอบด้วย

  1. ด้านเกษตรกรรม เก็บภาษีไม่เกิน 0.15 เปอร์เซ็นต์ของฐานภาษีที่คำนวณได้จากราคาประเมิน
  2. ที่อยู่อาศัย เก็บภาษีไม่เกิน 0.3 เปอร์เซ็นต์ของฐานภาษี ทั้งนี้ร่างกฎหมายกำหนดบทยกเว้นมูลค่าฐานภาษีที่ 50 ล้านบาท โดยไม่ให้นำมาคำนวณการเก็บภาษี กรณีที่เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน  และยกเว้นมูลค่า ฐานภาษีที่ 10 ล้านบาท กรณีเป็นบุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่เป็นเจ้าของที่ดิน
  3. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่น นอกจากทำเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย ให้เก็บภาษี ไม่เกิน 1.2 เปอร์เซ็นต์ และ
  4. ที่ดินว่างเปล่า เก็บไม่เกิน 1.2เปอร์เซ็นต์ของฐานภาษี ทั้งนี้หากมีที่ดินว่างเปล่าไม่ใช้ประโยชน์ ติดต่อกัน 3 ปีให้เก็บภาษีในอัตรา 0.3เปอร์เซ็นต์ ในปีที่สี่และหากพบว่าไม่มีการใช้ประโยชน์ติดต่กันให้เพิ่มอัตราเก็บภาษี 0.3 เปอร์เซ็นต์ทุกๆ 3 ปี แต่รวมอัตราเก็บไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ร่างกฎหมายยกเว้นการเก็บภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหากมีมูลค่าของฐานภาษีรวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท

สำหรับการชำระภาษี กำหนดให้บุคคลชำระภาษีภายในเดือนพฤษภาคมของทุกปี และหากไม่ชำระตามเวลาต้องเสียค่าปรับจำนวน 40 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนภาษีที่ค้างชำระ และหากไม่ชำระค่าภาษีค้างตามเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่ม 1 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือนของภาษีที่ค้างชำระ และให้ปัดเศษของเดือนเป็น 1 เดือน

และกำหนดให้ภายในเดือนมิถุนายน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งรายการภาษีค้างชำระกับหน่วยงานที่ดิน สำหรับผู้ไม่ชำระภาษีตามกำหนดเวลา ต้องชำระค่าปรับและเงินเพิ่มภายใน 90 วันนับแต่มีหนังสือแจ้งเตือน แต่หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวผู้เสียภาษีไม่ชำระภาษีคงค้าง ร่างกฎหมายกำหนดอำนาจให้ผู้บริหารท้องถิ่นออกคำสั่งเป็นหนังสือ ยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้เสียภาษีเพื่อนำเงินมาชำระภาษีค้างชำระ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าใช้จ่ายอื่น โดยไม่ต้องขอให้ศาลมีคำสั่ง

อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายยังกำหนดบทว่าด้วยการคัดค้านและอุทธรณ์การประเมินภาษี เพื่อรับเรื่องพิจารณาข้อร้องเรียนจากผู้ที่เรียกเก็บภาษีที่ไม่ถูกต้องด้วย

นอกจากนี้ร่างกฎหมายกำหนดบทลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจ ประเมินและจัดเก็บภาษี โดยมีโทษทั้งจำคุกและปรับ

สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ยกเว้นจัดเก็บภาษี ได้แก่

  • ทรัพย์สินของรัฐหรือหน่วยงานรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐ หรือกิจการสาธารณะ ที่ไม่ใช้เพื่อหาผลประโยชน์
  • ทรัพย์สินขององค์การสหประชาชาติ
  • ทรัพย์สินของสถานทูต หรือ สถานกงศุล
  • สภากาชาดไทย
  • ที่ดินศาสนสมบัติที่ไม่ได้ใช้เพื่อหาผลประโยชน์
  • สุสานสาธารณะ
  • มูลนิธิหรือองค์การกุศลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด
  • ที่ดินเอกชนที่ยอมให้ราชการใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์
  • ทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุด
  • ที่ดินสาธารณูปโภคว่าด้วยกฎหมายจัดสรรที่ดิน
  • ที่ดินนิคมอุตสาหกรรม

ในบทเฉพาะกาล ได้ระบุข้อยกเว้นใน 2 ปีแรก ให้ใช้อัตราเก็บภาษีที่ต่ำกว่าบทหลักกำหนด อาทิ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในเกษตรกรรม มูลค่าที่ดินตามการประเมินภาษีไม่เกิน 75 ล้านบาท เก็บภาษี 0.01 เปอร์เซ็นต์, มูลค่าที่ดินตามการประเมินภาษีดินไม่เกิน 70 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท เก็บภาษี 0.03, สิ่งปลูกสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย มูลค่าไม่เกิน 25ล้านบาท ให้เก็บอัตรา 0.03, มูลค่าเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป เก็บ 0.01 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนั้นยังมีบทบรรเทาการชำระภาษีอัตราใหม่ที่สูงกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระในปีก่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ให้ผู้เสียภาษีชำระภาษีตามจำนวนที่ต้องเสียหรือพึงชำระปีก่อน ดังนี้

  • ปีที่ 1 ชำระภาษี 25 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนภาษีที่เหลือ
  • ปีที่ 2 ชำระภาษี 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนภาษีที่เหลือ
  • ปีที่ 3 ชำระภาษี 75 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนภาษีที่เหลือ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook