เส้นทาง “คาร์ลอส กอส์น” ประธานนิสสัน จากวีรบุรุษสู่อาชญากรการเงิน
ครั้งหนึ่ง คาร์ลอส กอส์น (Carlos Ghosn) เคยเป็นมากกว่าแค่ซีอีโอระดับหัวแถวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปัจจุบัน
เขาเปรียบเสมือนวีรบุรุษของชาวญี่ปุ่น จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “7-11” หมายถึงคนที่ทำงานหนักตั้งแต่เช้าตรู่จนดึกดื่น
ชาวญี่ปุ่นชื่นชมเขาขนาดที่มีการนำชีวประวัติของซีอีโอชาวบราซิลออกมาเป็นมังงะ (หนังสือการ์ตูนสไตล์ญี่ปุ่น) ในชื่อ The True Story of Carlos Ghosn มาแล้ว ส่วนผลงานที่โดดเด่นที่สุด ก็คือการนำ นิสสัน พ้นจากหนี้สินกว่า 7.5 แสนล้านบาท จนกลับมาทำกำไรได้สำเร็จ ในปี 2000
นอกจากนี้ คาร์ลอส กอส์น ยังควบตำแหน่งประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มพันธมิตร เรโนลต์-นิสสัน ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทยานยนต์ระดับท็อปของโลก ด้วยจำนวนพนักงานรวมกันกว่า 450,000 คน และมียอดขายรถกว่า 9.96 ล้านคัน ในปี 2016
ทว่าทุกอย่างกลับตาลปัตร เมื่อเย็นวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 มีรายงานจากสื่อญี่ปุ่นหลายแห่ง ระบุว่า กอส์น มีพฤติกรรมประพฤติมิชอบทางการเงิน และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวไว้แล้ว และในช่วงกลางดึกของวันเดียวกันมีแถลงการณ์จาก นิสสัน มอเตอร์ เรื่องการเตรียมปลด กอส์น จากตำแหน่ง ซี่งเป็นผลจากการสอบสวนภายในที่กินเวลาต่อเนื่องมานานหลายเดือน
หลังได้เบาะแสว่า คาร์ลอส กอส์น ปกปิดรายได้ที่แท้จริงของตนมาตลอดหลายปี เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งอาจมีมูลค่าสูงถึง 1.4 พันล้านบาท รวมถึงมีการนำทรัพย์สินของบริษัทไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวอีกด้วย
นอกจาก คาร์ลอส กอส์น จะถูกปลดออกจากตำแหน่งแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสที่มีความเชื่อมโยงในเรื่องนี้ด้วย นั่นคือ เกร็ก เคลลี ที่จะถูกปลดออกจากตำแหน่งพร้อมกัน โดยคาดว่าจะมีการโหวตผลตัดสินอีกครั้งในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561
กรณีนี้ นับเป็นเรื่องชวนช็อคของทั้ง นิสสัน วงการธุรกิจในญี่ปุ่นและอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก ผู้ยกย่องในความสามารถของซีอีโอชาวบราซิลรายนี้อย่างสนิทใจ ขณะเดียวกัน ก็สอนให้รู้ว่าเมื่อวีรบุรุษหลงใหลกับพลังอำนาจในมือจนเกินไป
บทสรุป ก็อาจจบลงแบบน่าเศร้าเหมือนกรณีของ “ชายผู้ทำงานหนักที่สุดในธุรกิจรถยนต์” ผู้นี้ก็ได้