ประสบการณ์การเดินรถไฟความเร็วสูง....จุดแพ้ ชนะ ที่คนคาดไม่ถึง
การประมูลรถไฟความเร็วสูงครั้งนี้ วงเงินการพัฒนารวม 224,544.36 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน168,718 ล้านบาท, การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ 45,155.27 ล้นบาท และสิทธิการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 10,671.09 ล้านบาท
ผู้ชนะการประมูลจะได้รับสัมปทานเป็นระยะเวลา 50 ปี ประกอบด้วยระยะเวลาการออกแบบและก่อสร้าง 5 ปี และระยะเวลาการดำเนินการ 45 ปี โดยวันนี้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า มีผู้เข้าแข่งขันเหลือเพียง สองกลุ่ม คือ
รายแรก กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) : BTS, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) : STEC, บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) : RATCH
รายที่ 2 กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย), บริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) : ITD, China Railway Construction Corporation Limited :CRCC (สาธารณรัฐประชาชนจีน), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) : CK, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) : BEM
และยังมีพันธมิตรรายอื่นอีก เช่น Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development (ประเทศญี่ปุ่น) CITIC Group Corporation (สาธารณรัฐประชาชนจีน) China Resources (Holdings) Company Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) Siemen (ประเทศเยอรมนี) Hyundai (ประเทศเกาหลี) Ferrovie dello Stato Italiane (ประเทศอิตาลี) CRRC-Sifang (สาธารณรัฐประชาชนจีน) และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JBIC (ประเทศญี่ปุ่น) เป็นต้น
ว่าแต่ว่า ใครจะได้เปรียบ เสียเปรียบ เรามาวิเคราะห์กันตามกฎเกณฑ์การตัดสินเลยว่า แต่ละด่านจะเป็นอย่างไร
ซองที่ 1.เอกสารเปิดผนึก 1 ชุด แสดงคุณสมบัติของบริษัทตามเงื่อนไขทีโออาร์ และ เอกสารปิดผนึกข้อเสนอทั่วไป (ด้านคุณสมบัติ) โดยเอกชนต้องผ่านข้อเสนอซองที่ 1 ก่อน จึงได้เปิดข้อเสนอซองที่ 2 ซึ่งประตูด่านนี้ จะพิจารณาเพียงแค่ ผ่านและ ไม่ผ่าน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ทั้งสองรายผ่านฉลุย ดังนั้นมาว่ากันที่ซองต่อไปเลยดีกว่า
ซองที่ 2: เอกสารข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งรวมถึงการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ โดยไฮไลท์อยู่ที่ซองนี้!!!! ซึ่งถือว่า เป็นอีกประตูหนึ่งที่อาจตัดสินแพ้ชนะ ก่อนที่จะไปถึงการเปรียบเทียบด้านราคา เพราะเงื่อนไขหนึ่งที่ทุกคนคาดไม่ถึง ข้อกำหนดที่ว่า ผู้เข้าร่วมประมูล ต้องมีประสบการณ์ในการเดินรถไฟความเร็วสูง
คำว่า รถไฟความเร็วสูง หมายถึง ที่ความเร็วรถไฟอย่างน้อย 250 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง ถึงแม้ว่า บีทีเอส จะเคยเดินรถไฟฟ้า แต่รถไฟฟ้า BTSนั้น ทุกขบวนอยู่ภายใต้ระบบการเดินรถไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automatic Train Operation: ATO)ที่มีความเร็วไม่เกิน 80 กม. ต่อ ชม. เท่านั้น
ทำให้ประสบการณ์ที่เคยมีนั้น นำมาใช้กับ การเดินรถไฟความเร็วสูงไม่ได้ ซึ่งถือว่า ไม่ตรงตามเงื่อนไข ซึ่งผู้แข่งขันทั้งสองกลุ่มต้องหาผู้เชี่ยวชาญที่เคยบริหารการเดินรถไฟความเร็วสูงตัวจริง ที่มากกว่า 250 กม ต่อชั่วโมง มาเสริมทีม
หากดูในฝั่งของกลุ่มซีพี คงหายใจ หายคอคล่อง เพราะได้พันธมิตรแดนมักกะโรนี อย่างบริษัท Ferrovie dello Stato Italiane : FS (ประเทศอิตาลี) มาร่วมทีม ซึ่งเป็นบริษัท เชี่ยวชาญการบริหารรถไฟความเร็วสูงที่มีความเร็วมากกว่า 250 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง
และบำรุงรักษาระบบรางและรถไฟความเร็วสูง ที่สามารถทำกำไรได้ดีเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ โดยมีผลประกอบการในปี 2560 ซึ่งมีรายได้รวม 1.12 หมื่นล้านยูโร และเป็นรายได้จากการเดินรถประมาณ 80-85% แต่เป็นส่วนรายได้เฉพาะบริการรถไฟความเร็วสูงจะอยู่ที่ 1,700 ล้านยูโร
หากมาดูสมาชิกของฝั่งบีทีเอส อาจตกที่นั่งลำบาก เพราะ เงื่อนไขที่ว่า ผู้ที่จะมาบริหารการเดินรถ ต้องมีประสบการณ์ในการเดินรถไฟความเร็วสูงที่มากกว่า 250 กิโลเมตร ต่อชั่วโมงมาก่อน ซึ่งดูจากรายชื่อสมาชิกกลุ่มบีทีเอชแล้ว ยังไม่สามารถตอบโจทย์ข้อนี้ได้
และในโลกนี้ ก็มีผู้มีประสบการณ์เพียงไม่กี่รายที่มีประสบการณ์ หลังจากที่เช็คไปที่ผู้เชี่ยวชาญว่า หากแค่เอาชื่อมาใส่ทีม เป็นที่ปรึกษา จะเข้าเกณฑ์หรือไม่
ปรากฏว่า ผู้เชี่ยวชาญตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า หากจะเข้าเงื่อนไข ต้องเอาผู้ที่มีประสบการณ์ในการเดินรถไฟความเร็วสูงมากกว่า 250 กม ต่อชั่วโมง มาบริหารโครงการเชื่อม 3 สนามบินจริงๆ จะใช้แค่ชื่ออย่างเดียว หรือ มาเป็นเพียงที่ปรึกษานั้นไม่ได้ ทำให้งานนี้ต้องหืดจับแน่นอน
หากไม่สามารถหาผู้เล่น มาเดินรถแทนได้ทันเวลา ดังนั้น ต้องมาลุ้นกันว่า บีทีเอส จะหงายไพ่อะไรออกมาเพื่อหลุดรอดจากเงื่อนไขนี้ไปได้ เพราะถือว่า เป็นจุดอ่อนที่สำคัญของบีทีเอส เลยทีเดียว
ซองที่ 3: เอกสารข้อเสนอด้านราคา เอกชนที่ขอรับเงินอุดหนุนในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากรัฐบาลน้อยที่สุด จากวงเงินเต็ม 1.19 แสนล้านบาทจะเป็นผู้ชนะการประมูล ด้านการเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์จะเป็นไปตามราคาที่กำหนดไว้แล้ว ไม่มียื่นข้อเสนอหรือต่อรองแต่อย่างใด สำหรับซองนี้ มีความตรงไปตรงมา ที่รัฐต้องการให้การรถไฟออกเงินอุดหนุน น้อยที่สุด
ซองที่ 4: เอกสารข้อเสนอด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นข้อเสนอเพิ่มเติม ไม่มีผลกระทบต่อการแพ้-ชนะในการประมูล ดังนั้นจะขอข้ามไป
ดังนั้น ช่วงเวลานี้ บางคนอาจมองว่า ต้องไปลุ้นเปิดซอง 3 ว่า ข้อเสนอด้านราคา ใครจะชนะ แต่ต้องขอบอกเลยว่า จุดแพ้ ชนะ จริงๆแล้ว อยู่ในซอง 2 นี่แหละ ที่อาจทำให้เห็นผู้ชนะ หรือ ผู้แพ้ โดยแทบไม่ต้องลุ้นซอง 3 เลยก็ได้
ยังไงก็ต้องติดตาม ทั้งสองกลุ่มว่า จะแก้ปัญหาเงื่อนไขสุดหิน แต่ละข้อของ TOR ปราบเซียนไปได้อย่างไร แต่ทั้งนี้ ไม่ว่า ใครชนะ หากโครงการเกิดได้จริง ผู้ชนะแท้จริง คือคนไทยทุกคน ที่ได้นั่งรถไฟความเร็วสูงจริงๆ ซะที