แบงก์พาณิชย์ เตรียมเก็บค่าธรรมเนียมถอนเงินสดหน้า ATM และเคาน์เตอร์
นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ได้หารือร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ถึงการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากการถอนเงินสด หน้าเคาน์เตอร์ และตู้ ATM มาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะธปท. ขอพิจารณาให้รอบคอบก่อนจะอนุญาตให้สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมเงินสด หรือการใช้เช็คเงินสดต่างๆ ได้
ส่วนสาเหตุที่ต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมเบิกถอนเงินสด เพราะเป็นต้นทุนที่สูง ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการเงินสดตู้ ATM และพนักงาน
นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ มองว่า หากธุรกรรมเกือบทั้งหมดอยู่บนช่องทางออนไลน์มากขึ้น คาดว่าการเก็บค่าธรรมเนียม จากการทำธุรกรรมผ่านเงินสด หรือผ่านเช็คเงินสดน่าจะเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้หารือร่วมกับ ธปท.ไปหลายครั้งแล้ว ส่วนจะสามารถเก็บได้หรือไม่นั้น เชื่อว่าธปท.คงอยู่ระหว่างการพิจารณาให้รอบคอบ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากทั้งการหันไปใช้คิวอาร์โค้ด พร้อมเพย์
หากสามารถเก็บค่าธรรมเนียมได้จริง คงไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะเริ่มแรก แต่อาจเป็นการลดสิทธิประโยชน์ด้านเงินสดลง เช่น การถอนเงินผ่านตู้ ATM ที่อาจให้สิทธิการถอนฟรีลดลง เพราะทุกวันนี้ทุกธนาคารให้ถอนเงินสดผ่านตู้ ATM ข้ามธนาคาร ฟรีเฉลี่ย 5 ครั้งต่อเดือน เหล่านี้เชื่อว่าจะเห็นสิทธิประโยชน์เหล่านี้ลดลงก่อน
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้ง และนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มีโอกาสที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินสด หรือจากเช็คเงินสดต่างๆ เหมือนในต่างประเทศ เช่นสหรัฐ และ ยุโรป เพราะเป็นต้นทุนของระบบธนาคาร แต่อาจยังไม่ได้เห็นเร็วๆ นี้ พร้อมคาดว่า 3 ปีข้างหน้ามีโอกาสเป็นไปได้ เนื่องจากว่า ธปท. อาจต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ดิจิทัล ว่ามีความหลากหลาย ทั่วถึง หรือไม่เพราะปัจจุบันหากดูการถอนเงินสดผ่านตู้ ATM พบว่า ยังเกินระดับ 8 ล้านล้านบาทต่อปี ไม่ได้ลดลงหากเทียบกับปีก่อนหน้า
ดังนั้น อาจสะท้อนว่า การใช้เงินสดในระยะอันใกล้นี้ยังเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้หากดูการใช้โมบายแบงกิ้งวันนี้ พบว่าได้รับความนิยมสูงอยู่ในกลุ่มเขตชุมชนเมือง แต่ต่างจังหวัดการใช้ยังไม่แพร่หลาย ดังนั้นอาจจะต้องใช้ระยะเวลาสักพัก พฤติกรรมผู้บริโภคถึงเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล นอกจากนี้ระบบการชำระเงินยังเป็นโจทย์สำคัญ ที่จำเป็นต้องให้เกิดการชำระเงินใหม่ๆ หลากหลายมากขึ้นกว่าปัจจุบัน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการได้