คุณพระมือทาบอก! หนี้ครัวเรือนไทยปี 2561 พุ่งอยู่ที่ 3.16 แสนบาทต่อครอบครัว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 1,203 ตัวอย่างเกี่ยวกับสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2561 พบว่า จำนวนหนี้เฉลี่ยครัวเรือนในปี 2561 มีมูลค่า 3.16 แสนบาทต่อครัวเรือน ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หรือนับตั้งแต่ทำการสำรวจมาเมี่อปี 2552 เพิ่มขึ้น 5.8% เทียบกับการสำรวจหนี้ครัวเรือนปี 2560 ที่มีหนี้ฉลี่ย 2.99 แสนบาทต่อครัวเรือน แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 64.7% โดยหนี้ในระบบลดลงจากการสำรวจปี 2560 มีสัดส่วน 74.6% และหนี้นอกระบบ 35.3% เพิ่มขึ้นจากการสำรวจปี 2560 มีสัดส่วน 26.4%
แม้ว่ามูลค่าหนี้ครัวเรือนในปี 2561 จะสูงสุดนับตั้งแต่มีการสำรวจมา แต่หากดูโครงสร้างหนี้ครัวเรือนแล้วยังไม่น่ากังวล เพราะจากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบว่า เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในการซื้อสินทรัพย์ เช่น รถยนต์ บ้าน และการลงทุนประกอบกิจการ เช่น ลงทุนเครื่องจักร ซื้อวัตถุดิบ เป็นต้น อีกส่วนมาจากการก่อหนี้เพื่อจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อครัวเรือน มีการก่อหนี้มาใช้จ่ายในครัวเรือนมากขึ้นเนื่องจากค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น
หากดูการผ่อนชำระต่อเดือน พบว่าครัวเรือนมีความสามารถในการผ่อนชำระสูงขึ้น โดยปี 2561 ผ่อนชำระเฉลี่ย 1.59 หมื่นบาทต่อครัวเรือนต่อเดือน เพิ่มขึ้น 3.15% เทียบกับปี 2560 ที่มีการผ่อนชำระ 1.54 หมื่นบาทต่อครัวเรือนต่อเดือน
“โครงสร้างหนี้ครัวเรือนที่สำรวจมา ถือว่าไม่น่าห่วงและสอดคล้องกับที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ที่ระบุว่าหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันมีสัดส่วนต่อจีดีพีลดเหลือ 77% หรือประมาณ 12 ล้านล้านบาท หรือลดลงในรอบ 3-5 ปีที่หนี้ครัวเรือนมีสัดส่วนต่อจีดีพีอยู่ที่ 80%” นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่หนี้ครัวเรือนในปีนี้มีการก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการกู้หนี้ในระบบเต็มวงเงินทำให้ต้องก่อหนี้นอกระบบเพิ่มเติม ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งผลักดันมาตรการสินเชื่อพิกโก หรือให้นำสินทรัพย์ เช่น รถจักรยานยนต์ รถยนต์ นำมาใช้กู้ยืมได้ รวมถึงสินเชื่อนาโน อย่างต่อเนื่อง เพราะถือว่าดำเนินการถูกทางแล้ว และการดึงให้เจ้าหนี้นอกระบบมาอยู่ในระบบมากขึ้น โดยควบคุมอัตราดอกเบี้ยไม่ให้เกิน 36%ต่อปี จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้
สำหรับรายละเอียดการสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือน พบว่าส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินมาใช้จ่ายทั่วไปมากที่สุด รองลงมาเป็นการกู้มาชำระหนี้เก่า, ลงทุนประกอบธุรกิจหรือประกอบอาชีพ, จ่ายบัตรเครดิต,การศึกษา,ซื้อบ้าน, เสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ, ซื้อทรัพย์สิน (รถยนต์), ในการเกษตร,รักษาพยาบาล และเล่นพนัน โดยเฉพาะฟุตบอล เป็นต้น
“การแก้ปัญหาหนี้ภาพรวมของรัฐบาลมาถูกทาง ที่ส่งเสริมให้คนเข้าถึงแหล่งเงินในระบบมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน แม้ว่าผลการสำรวจหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนจะเพิ่มสูงสุด แต่หากเทียบกับสัดส่วนจีดีพีถือว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วงเหมือนกับในอดีต ขณะเดียวกันการกู้หนี้การซื้อสินทรัพย์ ยังอยู่ในสัดส่วน 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับการลงทุนและ การใช้จ่ายทั่วไป ถือว่าเป็นเรื่องปกติ” นายธนวรรธน์ กล่าว
ด้านข้อเสนอที่ครัวเรือนต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้ เช่น ฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้มีการจ้างงานและสร้างรายได้, การดูแลค่าครองชีพและควบคุมราคาสินค้า, ดูแลเรื่องสวัสดิการให้กับประชาชน, แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้, แก้ไขปัญหาการว่างงานและการเสริมอาชีพ, จัดหาแหล่งเงินทุนในระบบที่มีดอกเบี้ยต่ำ และจัดการขึ้นทะเบียนคนจน เป็นต้น