ผู้ค้าออนไลน์ ชี้ “ภาษีออนไลน์” เป็นบ่อเกิดของความเหลื่อมล้ำ
บิ๊บ-กิจจาณัฏฐ์ ชัยยศบูรณะ ประธาน บริษัท เอส.ซี.ออลล์ จำกัด และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ภาษีออนไลน์ ว่าเห็นด้วยกับการที่ภาครัฐจะจัดเก็บภาษีดังกล่าว แต่ต้องมีขั้นตอนที่จะสร้างความเข้าใจ วิธีในการจัดเก็บ รวมถึงตรวจสอบความถูกต้องและชัดเจนต่างๆ
นอกจากนี้ บิ๊บ-กิจจาณัฏฐ์ ระบุว่าในปี 2020 ธุรกิจทุกประเภทจะเข้าสู่ออนไลน์อย่างเต็มตัว หากไทยมีการประกาศใช้ภาษีออนไลน์จริงจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังจะย้าย Platform ออฟไลน์สู่ออนไลน์ และยังไม่มีพื้นฐานด้านการอีคอมเมิร์ซที่ดีพอ ที่สำคัญยังเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำอีกด้วย เพราะปัจจุบันผู้เล่นรายใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องของการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างชัดเจนนัก ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้ามาใน Platform ออนไลน์มากขึ้น และเมื่อ พ.ร.บ.ภาษีออนไลน์ประกาศใช้จริง กลุ่ม SMEs เหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบเพราะผู้ค้าออนไลน์ไม่เข้าใจการสื่อสารของรัฐอย่างชัดเจน สุดท้ายก็จะล้มหายไปและผู้เล่นรายใหญ่เท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ครองตลาดออนไลน์
อีกทั้งภาครัฐยังไม่มีสวัสดิการที่จะจูงใจให้กลุ่มผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซเสียภาษีออนไลน์อย่างชัดเจน แตกต่างจากต่างประเทศที่มีข้อยกเว้นภาษี 3-5 ปีก่อนในช่วงแรก หรือการสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์
สำหรับกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก ร่าง พ.ร.บ.ภาษีออนไลน์ น่าจะเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพ , ผู้ค้าออนไลน์, เน็ตไอดอล และครูผู้ฝึกสอนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือโค้ช เพราะกลุ่มนี้จะตื่นตระหนัก อีกทั้งภาษาในการสื่อสารของรัฐที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งผู้ค้าบางคนยังไม่เข้าใจความหมายอาจทำให้การสื่อสารคลาดเคลื่อนได้
บิ๊บ-กิจจาณัฏฐ์ ระบุว่า ปัจจุบันภาพรวมมูลค่าตลอดออนไลน์มีมากกว่า 10,000 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนระหว่าง ผู้ประกอบการ กับ ผู้ประกอบการ หรือ B2B มีอยู่ 70% คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาทขึ้นไป และอีก 30% เป็นกลุ่มผู้ประกอบการ กับ ผู้บริโภค (B2C) คิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาท – 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยังได้เสนอให้ภาครัฐทบทวน ร่าง พ.ร.บ.ภาษีออนไลน์ โดยขอให้พิจารณาถึงเรื่องผลประโยชน์ที่ผู้ค้าออนไลน์จะได้รับ และการสื่อสารให้เข้าใจอย่างชัดเจนมากที่สุด
>> "ภาษีออนไลน์" จะเก็บเมื่อมีรายได้ถึง 2 ล้านบาท เริ่มใช้จริงปี 2563