ผู้ชนะการประมูลรถไฟความเร็วสูงตัวจริง คือ คนไทยและประเทศชาติ

ผู้ชนะการประมูลรถไฟความเร็วสูงตัวจริง คือ คนไทยและประเทศชาติ

ผู้ชนะการประมูลรถไฟความเร็วสูงตัวจริง คือ คนไทยและประเทศชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินของไทย หลายคนมองว่าเป็นแข่งขันระหว่างเอกชนผู้เข้าประมูล 2 ราย แต่หากมองให้ลึกซึ้ง การแข่งขันนี้เป็นการเข้าร่วมแข่งขันของคนไทยกับการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

จะเห็นได้ว่าทุกประเทศต่างขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเสริมศักยภาพในการแข่งขัน ในขณะเดียวกัน ทุกประเทศยังจับตามองประเทศไทย ว่าจะทำโครงการที่สำคัญนี้สำเร็จหรือไม่ หรือว่าจะปล่อยให้ตกขบวนการเติบโตในระดับภูมิภาค

ต้องชื่นชมรัฐบาล ที่เอาจริง เอาจัง หยิบเอาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มาขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริงในยุคนี้ เพราะยิ่งเราช้ามากขึ้นเท่าไร โอกาสที่จะทำโครงการนี้ให้สำเร็จ ก็จะยากมากขึ้นเท่านั้น เพราะต้นทุนค่าเสียโอกาส ราคาค่าก่อสร้าง ค่าแรง จะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเราอาจหาคนมาลงทุนลำบากมากขึ้น

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เป็นที่รู้กันว่าส่วนใหญ่แล้วจะขาดทุน ทำให้หาเอกชนที่จะมาร่วมลงทุนยาก และต้องพบกับความเสี่ยงนานัปการ อีกทั้ง ยังต้องฝ่ากระแส "การกลัวเอกชน จะกำไร" ทำให้โครงการนี้ ผู้เข้าประมูล นอกจากจะเจออุปสรรคโดยตรงจากตัวเลขในการลงทุนแล้ว ยังต้องพบกับแรงกดดันมากมาย

โดยที่หลายคนมองข้ามนำประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ  มาคำนวณเป็นคุ้มค่าในการลงทุน เช่น รายได้ที่เพิ่มขึ้น การท่องเที่ยว การเกษตรมูลค่าสูง การเชื่อมต่อสนามบินที่เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคอาเซียน รองรับการเติบโตของภูมิภาค การพัฒนาการศึกษา และ การที่เมืองรองมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้น

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ (ก่อสร้างและให้บริการ) ให้เอกชนร่วมทุนฯ 50 ปี โดยทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา จะก่อให้เกิดการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปี การจ้างงานระหว่างก่อสร้าง 16,000 อัตรา

ใช้วัสดุก่อสร้างภายในประเทศ (เหล็ก 1 ล้านตัน ปูน 8 ล้านลูกบาศก์เมตร) เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ประเทศ มีผลตอบแทนต่อเศรษฐกิจ ตลอดอายุโครงการ 652,152 ล้านบาท ผลตอบแทนทางการเงิน 127,985 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน คิดจากอัตราคิดลดของเอกชน 6.06% ใน 1-50 ปี และคิดลดด้วยอัตราเงินเฟ้อ 2.5% ระหว่างปีที่ 51-100)

สร้างมูลค่าเพิ่มการพัฒนาเศรษฐกิจ (รัศมี 2 กม. ตามเส้นทางรถไฟ) 214,621 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน คิดจากอัตราคิดลดทางด้านเศรษฐกิจ 3%) ภาษีเข้ารัฐเพิ่ม 30,905 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน คิดจากอัตราคิดลดทางด้านเศรษฐกิจ 3%)

มูลค่าเพิ่มการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก ประมาณ 150,000 ล้านบาท ลดการใช้น้ำมัน เวลา อุบัติเหตุ และสิ่งแวดล้อม 128,641 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน คิดจากอัตราคิดลดทางด้านเศรษฐกิจ 3%)

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนี้ ผู้ชนะการประมูลคือ ผู้ที่ให้รัฐออกเงินร่วมลงทุนน้อยที่สุด ซึ่งดูเหมือนว่า ข้อเสนอของซีพี จะเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด โดยใช้เงินรัฐเพียงครึ่งเดียว จากที่รัฐเสนอกรอบการลงทุนทุนมา และต่ำกว่า คู่แข่งเกือบ 1 แสนล้านบาท

แต่สิ่งที่รัฐบาลได้วางไว้ สุดท้ายหลังจาก 50 ปี สิ่งปลูกสร้าง และ รถไฟทุกขบวนก็จะตกเป็นของประเทศอยู่ดี รวมถึงที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดด้วย

หากเรามองนับเวลาดูจะเห็นว่า แค่ช่วงเวลาก่อสร้างก็กินเวลากว่า 5 ปี แล้ว กว่าจะมีผู้โดยสารเพียงพอ ก็จะใช้เวลาอีก 10 ปี เท่ากับโครงการนี้ จะมีเวลาทำกำไรจริง ๆ ประมาณ 30 ปีเท่านั้น และตลอดระยะเวลาดำเนินการ ก็ต้องแบ่งรายได้ให้รัฐทุกปีด้วย

หากเรามองผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ จะเห็นได้ว่า กำไรจริง ๆ ของโครงการคือ ความเจริญของประเทศไทย และ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในฝั่งตะวันออก ที่จะทำให้เป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจระดับภูมิภาค

ดังนั้น ถึงแม้ว่าซีพีจะเป็นผู้ได้เข้ามาทำโครงการนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าซีพีเป็นผู้ชนะ เพราะยังมีอุปสรรคและความท้าทายอีกมาก แต่ผู้ชนะตัวจริง หากโครงการนี้สำเร็จก็คือคนไทย ที่จะได้มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และ เป็นกุญแจสู่อีอีซี ทำให้โครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญของประเทศเกิดขึ้นได้จริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook