ออมสินลุยไฟเข็น"บัตรเครดิตน.ศ.-รากหญ้า"เปิดช่องไม่มีสลิป-ลูกค้าต่ำเกณฑ์แบงก์
แบงก์ออมสินเดินหน้า "บัตรเครดิตนักเรียนนักศึกษา-บัตรเครดิตรากหญ้า" หวังเจาะกลุ่มไม่มีสลิปเงินเดือนที่ถูกแบงก์พาณิชย์เมิน
เผยหลักเกณฑ์เบื้องต้นให้วงเงินใบละไม่เกิน 5 พันบาท-ดอกเบี้ยอาจต่ำกว่า 18% ด้านแบงก์ชาติหนุนช่วยรากหญ้าเข้าถึงบริการการเงิน แต่ต้องให้ความรู้วินัยการเงิน
นายธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินอาวุโส รักษาการผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า
แบงก์มีแนวคิดจะออกบัตรเครดิต 2 ประเภท
โดยตัวแรก คือบัตรเครดิตนักเรียนนักศึกษา ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการธนาคารไปแล้ว ล่าสุดอยู่ระหว่างให้ฝ่ายการตลาดกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ ทั้งอัตราดอกเบี้ย วงเงินที่เหมาะสม และจำนวนนักเรียนนักศึกษาที่จะเข้าร่วมโครงการ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนจะมีความชัดเจน
ส่วนอีกตัวที่อยู่ระหว่างรอความชัดเจน จากนโยบายรัฐบาล คือบัตรเครดิตรากหญ้า ที่จะเน้นผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้า แม่ค้า ที่ไม่มีเงินเดือนประจำที่ต้องมีสลิป
เพื่อให้มีเงินไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ อยู่ระหว่างรอนโยบายที่ชัดเจนจากกระทรวงการคลัง เพราะต้องมีการขอผ่อนปรนเงื่อนไขหลักเกณฑ์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย
"บัตรเครดิตรากหญ้าต้องรอนโยบายจากรัฐบาล โดยให้ทางคลังมีนโยบายชัดเจน แล้วต้องไปคุยกับแบงก์ชาติว่า
จะสามารถผ่อนปรนหลักเกณฑ์ตรงไหนได้บ้าง เพราะเป็นโครงการพิเศษ คล้ายโครงการพักหนี้ เพราะเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยต่างๆ"นายธัชพลกล่าว
อย่าง ไรก็ดี นายธัชพล กล่าวว่า เบื้องต้น บัตรเครดิตทั้ง 2 ประเภท คาดว่าการอนุมัติวงเงินต่อบัตรน่าจะอยู่ไม่เกิน 5,000 บาท น่าจะเหมาะสม
เพราะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากลูกค้าทั้ง 2 กลุ่มนี้ไม่เคยถูกบันทึกในฐานข้อมูลของระบบธนาคาร เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์การอนุมัติของธนาคารพาณิชย์
โดยกรณีนักเรียนนักศึกษานั้น อาจต้องขอให้ผู้ปกครองค้ำประกันให้ด้วย เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในอนาคต แต่จะผ่อนปรนในเรื่องเอกสารหลักฐานบางรายการมากกว่าการทำบัตรเครดิตกับแบงก์ พาณิชย์ อาทิ หลักฐานเกี่ยวกับรายได้ เป็นต้น
ส่วนการคิดอัตรา ดอกเบี้ยบัตรเครดิตทั้ง 2 ประเภท อาจจะต่ำกว่าหรือใกล้เคียงกับบัตรเครดิตทั่วไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
กำหนดไว้ที่ 18% อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเงื่อนไขจะดีกว่าการไปกู้นอกระบบแน่นอน
"อัตราดอกเบี้ยคง ต้องถูกลงมาหน่อย เพราะทำเพื่อพี่น้องประชาชน แต่เราต้องมีบัตรเป็นของตัวเองอยู่แล้ว กฎเกณฑ์ก็ต้องปรับเกณฑ์ใหม่
แต่คงต้องใช้เวลา ตอนนี้อยู่ระหว่างพิจารณา เพราะขนาด ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ที่ทำบัตรเครดิตเกษตรกรยังต้องใช้เวลา" นายธัชพลกล่าว
นายธัชพล กล่าวอีกว่า ในอนาคต เมื่อธนาคารออมสินลงทุนทำบัตรเครดิตเองแล้ว อาจจะต้องยกเลิกการทำบัตรเครดิตที่ร่วมกับสถาบันการเงินอื่น (โคแบรนด์) เช่น ที่ทำร่วมกับบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซีอยู่ในปัจจุบัน เป็นต้น เพื่อไม่ให้ลูกค้าสับสน
สำหรับแนว คิดที่จะทำโครงการนี้ เนื่องจากธนาคารออมสินมองเห็นโอกาสเพิ่มช่องทางหารายได้ โดยเข้าไปเจาะกลุ่มที่ไม่ได้รับอนุมัติจากแบงก์พาณิชย์
ส่วนความกังวลเรื่องเอ็นพีแอลนั้น ยอมรับว่าคงต้องมีวิธีการควบคุมเป็นพิเศษ แต่ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะแบงก์มีประสบการณ์และพนักงานก็ได้เรียนรู้ระบบบัตรเครดิตมาแล้ว
นาง สาวนวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การที่แบงก์รัฐเริ่มลงมาแข่งขันและทำบัตรเครดิต ไม่น่ากระทบต่อสภาพคล่องของระบบสถาบันการเงินรวม เนื่องจากปัจจุบันแบงก์รัฐบางแห่งมีขนาดใหญ่มาก
และกลุ่มรากหญ้าก็อาจไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของแบงก์พาณิชย์ ดังนั้นการที่รัฐเริ่มโครงการนี้ ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้คนกลุ่มหนึ่งที่แบงก์พาณิชย์เข้าไม่ถึง
ส่วน ประเด็นความเสี่ยงก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ ซึ่งต้องคำนึงถึงวินัยทางการเงินของคนเหล่านี้ด้วย แต่คงไม่ใช่ว่าแบงก์ต้องดูแลอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนรากหญ้า
"คนที่ ทำธุรกิจก็ต้องขายของ สถาบันรัฐก็ต้องการช่วยเหลือคนบางกลุ่ม แต่มีอยู่กลุ่มหนึ่งที่ดูแลตัวเองไม่ได้ และขาดความรู้ ซึ่งเป็นหน้าที่ต้องให้ความรู้ เราเป็นผู้กำกับดูแลของแบงก์พาณิชย์ หากเกิดอะไรขึ้น เราก็จะคอยดู ซึ่งบางคนอาจไม่เข้าใจว่า การที่เราได้เงินมาง่ายเกินไป อาจทำให้เราเป็นหนี้" นางสาวนวพรกล่าว