บอร์ด สปสช. เคาะงบบัตรทองปี 63 ครอบคลุม 15 รายการ

บอร์ด สปสช. เคาะงบบัตรทองปี 63 ครอบคลุม 15 รายการ

บอร์ด สปสช. เคาะงบบัตรทองปี 63 ครอบคลุม 15 รายการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) อนุมัติงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2563 ในส่วนงบเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 182,658.48 ล้านบาท หรือ 3,784.57 บาทต่อประชากรผู้มีสิทธิ โดยคำนวณประชากรผู้มีสิทธิ 48.26 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ได้รับจัดสรรอยู่ที่ 166,445.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,213.26 ล้านบาท หรือ 358.01 บาทต่อประชากรผู้มีสิทธิ

ทั้งนี้ ปัจจัยการปรับเพิ่มดังกล่าว เป็นผลจากต้นทุนบริการ ทั้งอัตราเงินเฟ้อ ค่ายา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าตอบแทนบุคลากร ปริมาณการใช้บริการ สิทธิประโยชน์ใหม่ และการเพิ่มการเข้าถึงบริการแบบก้าวกระโดด ส่วนงบนอกเหมาจ่ายรายหัวปีงบประมาณ 2563 รวม 17,261.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปี 2562 จำนวน 2,122.41 ล้านบาท และยังได้เพิ่มเติมงบเพื่อชดเชยวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน 45.02 ล้านบาท และเมื่อรวมงบ 3 ส่วน เป็นเงิน 199,964.77 ล้านบาท เพิ่ม จากปี 2562 ที่ได้รับจัดสรร 181,584.09 ล้านบาท

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ข้อเสนองบประมาณเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการปรับปรุงและเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพื่อการเข้าถึงการรักษาให้กับประชาชน ซึ่งมี 15 สิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปีงบ 2563 ได้แก่

  1. บริการตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1520 ก่อนเริ่มยากันชัก Carbamazepine ป้องกันการแพ้ยาชนิดรุนแรง สตีเวนส์ จอห์นสัน
  2. ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากร อายุ 50-70 ปี
  3. บริการผ่าตัดผ่านกล้องและอุปกรณ์ทันสมัย และบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ
  4. เพิ่มสิทธิประโยชน์เข้าถึงยาราคาแพง บัญชียา จ.(2) ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ มะเร็งไทรอยด์ เส้นประสาทที่เกิดจากการทำลายปลอกมัยอิลินชนิดเรื้อรัง และผู้ป่วยเอดส์ที่ดื้อยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐาน
  5. นำร่องบริการตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมทารกในครรภ์
  6. บริการดูแลผู้ป่วยกึ่งเฉียบพลัน (Intermediate care) ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน บาดเจ็บทางสมองและบาดเจ็บที่เส้นประสาทไขสันหลัง
  7. เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพโดยหมอครอบครัว
  8. บริหารจัดการ่วมระหว่างหน่วยบริการ อปท. ชุมชนและครอบครัวเพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียงทุกลุ่มอายุ และกลุ่มสิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม
  9. ติดตามค่าน้ำตาลในเลือดด้วยเครื่องตรวจในผู้ป่วยโรคเบาหวานในเด็กทุกราย
  10. นำร่องการล้างไตผ่านเครื่องอัตโนมัติในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง
  11. นำร่องป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้วยวิธี Pre-Exposure Prophylaxis (PrEP) ในกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
  12. เพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทยมากขึ้น
  13. การเพิ่มโอกาสได้รับการส่งต่อเพื่อรับการรักษาโรคอย่างต่อเนื่องในประชาชนชาว กทม.
  14. การขยายสิทธิประโยชน์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในกลุ่มผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ
  15. เพิ่มการให้วัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงเด็กอายุ 2-18 เดือน

รวมถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์เข้าถึงยาราคาแพง บัญชียา จ.(2) ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ มะเร็งไทรอยด์ และผู้ป่วย เอดส์ที่ดื้อยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook