Jewelry Café จับขนมใส่จิวเวลรี่
ว่ากันว่า ในบางครั้งระหว่างทางสำคัญไม่แพ้จุดมุ่งหมาย คำกล่าวนั้นน่าจะมีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย
เพราะที่มาที่ไปของ Jewelry Café เกิดขึ้นจากการผสมผสานทางความคิดจากสิ่งที่ได้พบเจอระหว่างทาง บวกเข้ากับพื้นฐานเดิมที่มีอยู่
เกิดเป็นการพัฒนาธุรกิจจิวเวลรี่ออกมาในสไตล์ร้านเบเกอรีสุดน่ารัก สร้างความแปลกใหม่กับปรากฏการณ์ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น
ชาญเกียรติ มหันตคุณ หรือ บอย ทายาทธุรกิจเครื่องประดับ Bee Bijoux ผู้ปลุกปั้นแบรนด์ใหม่อย่าง Jewelry Café เมื่อปลายปี 2553
เล่าว่า หลังจากที่ผู้เป็นพ่อปรารถนาอยากมีร้านกาแฟเล็กๆ เขาเลยมีโอกาสได้เดินทางไปดูร้านกาแฟดีๆ หลายแห่ง พร้อมทั้งมองหาทำเลในการจัดตั้งร้าน
หากแต่ช่วงเวลาหนึ่งของการเดินทางไปสู่เป้าหมาย เขากลับค้นพบว่าการกระโดดมาทำธุรกิจร้านกาแฟ หากไม่มี Know how เลย
แน่นอนว่าความเสี่ยงจึงค่อนข้างสูง แต่ในเมื่อจุดแข็งของตัวเอง คือ การทำจิวเวลรี่ จึงคิดที่จะทำทั้งสองให้ควบคู่และเกื้อหนุนกัน
เรียกว่า กว่าจะมาเป็น Jewelry Café บอยต้องฝ่าฟันกับกระบวนการคิดหลายขั้นหลายตอน นักธุรกิจหนุ่มบอกเล่ามุมมองว่า
รูปแบบของจิวเวลรี่ที่เกิดขึ้น น่าจะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้พบเห็นได้เป็นอย่างดี ด้วยความมีเอกลักษณ์และแปลกตา
ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อแบรนด์ได้เปิดเผยตัวต่อสาธารณชนในงานแสดงสินค้า ผู้คนผ่านไปผ่านมาต่างให้ความสนใจกับปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้น
"ที่ทำเป็นรูปเบเกอรี ส่วนหนึ่งเพราะคิดว่าหลายๆ คนชอบขนม คนคงจะคุ้นเคยกับขนมเป็นอย่างดี คลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก
เมื่อเห็นแล้วชวนให้นึกย้อนไปถึงความสุขตอนเด็กๆ เพราะฉะนั้น ขนมเป็นสิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้ อีกอย่างคือเป็นคอนเซ็ปต์ที่น่ารักๆ น่าจะถูกใจใครหลายๆ คน"
เมื่อถามถึงจุดเด่นของแบรนด์ บอยนำเสนอว่า Jewelry Café ไม่เหมือนใครเพราะเป็นเครื่องประดับที่มีแนวคิด
มีคอนเซ็ปต์ในการออกแบบ สินค้านั้นเต็มไปด้วยความประณีต สามารถเสริมสร้างภาพลักษณ์ของผู้สวมใส่ได้ว่าเป็นคนพิถีพิถันในการในเลือกของดีๆ ให้กับตัวเอง
สูตรสำเร็จของนักธุรกิจหนุ่มนั้นไม่ได้ยากเย็นนัก เขาบอกเล่าถึงกุญแจที่ไขไปสู่ความสำเร็จว่า การรับฟังคำติชมของลูกค้า และพร้อมปรับตามความต้องการ
รวมถึงขยันพบปะพูดคุยกับลูกค้าด้วยตัวเอง นั่นคือหัวใจสำคัญของการนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ โดยแต่ละชิ้นงานที่เขาออกแบบ
มีเคล็ดลับอยู่ที่การนำคำแนะนำและคำติชมมาเป็นปัจจัยอย่างสำคัญอย่างหนึ่ง เมื่อรับรู้แล้วว่าทิศทางความต้องการเป็นยังไง ทำให้สามารถลุยต่อเรื่องออกแบบได้
เขาจึงมั่นใจว่าผลิตออกมาแล้วสามารถขายได้
ว่ากันว่า ธุรกิจจะโดดเด่น หากรู้จักหาความใหม่ ใส่ความต่าง สร้างเอกลักษณ์ ถ้าต้องการพบเจอแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ความคิด
ลองหยุดสำรวจมุมมองระหว่างทาง แล้วจะพบว่ายังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ยังหลงหูหลงตา
ผมว่าเรื่องสำคัญมากๆ ของคนทำธุรกิจ คือ การมีโอกาสได้พบกับลูกค้า ไม่ว่าโอกาสใดก็ตาม เช่น เวลาออกบูธ ผมพยายามไปเองทุกครั้ง
เพราะเรามีโอกาสได้เจอกับผู้ซื้อจริงๆ เราได้มีโอกาสเรียนรู้ว่าเขาชอบอันไหน ไม่ชอบอันไหน และมีคำแนะนำอะไรให้เราพัฒนาหรือไม่ อะไรสามารถตอบโจทย์เขาจริงๆ
อีกอย่างคือ ผมว่ายุคของโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างปัจจุบัน เฟซบุ๊กเป็นช่องทางสำคัญมากที่เอื้ออำนวยให้เราสื่อสารกับลูกค้าได้ตลอดเวลา ยามที่เราจัดโปรโมชั่น อัพเดตรูปสินค้าใหม่ๆ หรือกิจกรรมใดๆ ก็ตาม
เรื่อง : ธีรนาฎ มีนุ่น
ภาพ : ปิยชาติ ไตรถาวร