“เช็คแก้ไขข้อความ” ธนาคารพร้อมใจแบน เริ่ม 1 กุมภาพันธ์ 2562
จากกรณีที่มีกระแสข่าวดังในโลกโซเชียล ที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า อามิตร จาวลา ได้โพสต์ว่า
เมื่อผมถูกปลอมเช็ค และสูญเงินกว่า 8 ล้านบาท! แต่ 4 ธนาคารยักษ์ใหญ่กลับไม่เอะใจ ปล่อยผ่านเช็คที่ถูกปลอม ขึ้นเงินกว่า 60ใบ!!!
หากย้อนไปตั้งแต่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย สั่งการให้ธนาคารต่างๆ ออกประกาศสำหรับลูกค้าผู้ใช้บริการเช็ค โดยระบุว่า "ด้วยปัจจุบันสถิติการทุจริตจากการใช้เช็คในประเทศไทยมีอยู่พอสมควร อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายต่อลูกค้าและธนาคาร เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว ธนาคารจึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ให้ผู้สั่งจ่ายเช็คโปรดสั่งจ่ายเช็คด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงการแก้ไขข้อความ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป หากลูกค้าผู้ทรงเช็คได้รับเช็คที่มีการแก้ไขข้อความ ให้นำฝากเฉพาะที่ธนาคารเจ้าของเช็คเท่านั้น
โดยยังได้มีข้อแนะนำในการใช้เช็ค ให้ผู้สั่งจ่ายเช็ค ระมัดระวังในการเขียนเช็ค โดยไม่แก้ไขข้อความ/ตัวเลขบนหน้าเช็ค เพื่อป้องกันการทุจริตจากการปลอมแปลงข้อมูล รวมทั้ง เก็บรักษาเช็คให้อยู่ในที่ปลอดภัยและต้องแจ้งธนาคารทันทีเมื่อทราบว่าเช็คหาย
ส่วนลูกค้าผู้ทรงเช็ค ตรวจสอบทุกครั้งที่มีการรับเช็ค โดยไม่รับเช็คที่มีการแก้ไขข้อความ/ตัวเลข, หากได้รับเช็คที่มีการแก้ไขข้อความ/ตัวเลข ให้นำไปให้ผู้สั่งจ่ายเปลี่ยนเช็คใหม่ หรือ ให้นำไปขึ้นเงินที่ธนาคารเจ้าของเช็คเท่านั้น และไม่ควรพับเช็คหรือทำให้เช็คชำรุด เพราะจะทำให้เช็คไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการเรียกเก็บได้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเช็คคืน โปรดติดต่อสาขาของธนาคารเจ้าของเช็ค"