Z-Style แฟชั่นเพื่อนซี้ 4 สไตล์ หลากหลายโดนใจวัยรุ่น

Z-Style แฟชั่นเพื่อนซี้ 4 สไตล์ หลากหลายโดนใจวัยรุ่น

Z-Style แฟชั่นเพื่อนซี้ 4 สไตล์ หลากหลายโดนใจวัยรุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกลุ่มเพื่อนร่วมหอสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ที่เริ่มไอเดียเปิดร้านจากการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ในช่วงน้ำท่วม

ปัจจุบันสี่หนุ่มหลากสไตล์อย่าง ปวริศร์ ชลชาติภิญโญ หรือกระเป๋า, อภิณัฐ จันทฤทษ์ หรือณัฐ, ศิริชัย อัชนัยไกรเลิศ หรือไกด์ และบุญฤทธิ์ รื่นวงษา หรือต้อม

ได้ร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันร้านขายเสื้อผ้าออนไลน์ผ่าน www.zstylefashion.com/ ให้ประสบความสำเร็จ โดยกลายเป็นร้านค้าอันดับ 1 จาก LnwShop of the Year 2011 กว่า 10,000 เว็บฯ ร้านค้าของ LnwShop

กระเป๋า เล่าว่า ความสำเร็จดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นระหว่างเหตุการณ์น้ำท่วม เมื่อทั้งสี่อยากออกไปช้อปปิ้งแต่ทุกเส้นทางโดยรอบถูกปิดหมด

จึงเริ่มต้นลองหาซื้อเสื้อผ้าเกาหลีผ่านอินเทอร์เน็ตและเริ่มต้นแนวคิดที่จะเปิดร้านขายเสื้อผ้าขึ้น โดยตั้งใจจะขายสินค้าในรูปแบบที่ไม่ต้องลงทุนสูงเพื่อทดลองตลาดก่อน และทั้งหมดยังเป็นนักศึกษาทำให้ไม่มีเวลามากนัก จึงตกลงกันเลือกใช้ช่องทางออนไลน์ที่สะดวกและประหยัดงบประมาณที่สุด

"เราเห็นว่ามันน่าสนใจดี น่านำมาทำเป็นแบรนด์ของตัวเอง แต่การทำแบรนด์ของตัวเองได้ก็ต้องผ่านอะไรมาหลายๆ อย่าง

แต่ตรงนี้ยังเป็นพื้นฐานเลยลองหาอะไรมาขายก่อน พอมีความรู้เรื่องเว็บไซต์นิดหน่อยก็ลองมาทำออนไลน์ และตรงนี้ไม่ต้องลงทุนเปิดร้านด้วย ความเสี่ยงในเว็บฯ ก็น้อยกว่า

ถ้ามองในแง่ของการลงทุน เพราะมันเป็นตลาดเปิด และมันไม่ปิดกั้นเรื่องเงินทุน สามารถโปรโมตได้ตามปกติ" ต้อม กล่าว
ถึงแม้จะประสบปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนรอบสั่งซื้อสินค้าของซัพพลายเออร์ ทำให้ร้านต้องปิดรับพรีออเดอร์ไปเป็นเวลานาน

แต่หลังจากที่เปลี่ยนระบบให้มีการเช็กสต็อกสินค้าพร้อมพรีออเดอร์ทันทีที่ลูกค้าสั่งซื้อ Z-Style ก็กลายเป็นร้านค้าที่ได้รับความนิยมจากทั้งวัยรุ่นและวัยทำงาน

โดยมีจุดเด่นด้านความหลากหลายทั้งสินค้าที่ครบครัน ซึ่งมีทั้งสินค้าแบรนด์เกาหลี สินค้าจากจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน รวมถึงสไตล์ที่รวมความเป็นตัวตนของทั้งสี่เข้าไว้ด้วยกัน

นอกจากนั้น ทางร้านยังมีทั้งสินค้าพรีออเดอร์และสต็อกพร้อมส่งด้วย

"ของที่เราสต็อกส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าผู้หญิง เพราะลูกค้าผู้ชายส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกสินค้าด้วยข้อจำกัดทางเวลา แต่เลือกเพราะเขาเห็นแล้วชอบ เขาถึงสั่งซื้อทำให้เขาไม่เร่งสินค้าตัวเองมาก

แต่สินค้าของผู้หญิงค่อนข้างหลากหลายมาก บางตัวที่ค่อนข้างเด่นก็ต้องเอามาอยู่ในหมวด In Store เพราะบางทีผู้หญิงก็อยากได้สินค้าเร็วๆ นอกจากนั้น ลูกค้าผู้ชายก็ไม่ค่อยคำนึงถึงราคา 1-2 พันก็ซื้อเต็มที่ แต่เขาจะไม่ซื้อบ่อย ดังนั้นเราจึงไม่กล้าสต็อก ร้านค้าส่วนใหญ่เองก็ไม่ค่อยสต็อกสินค้าผู้ชาย เน้นทางด้านพรีออเดอร์ หรือร้านที่สต็อกก็มีไม่ถึง 100 ชิ้น เขาก็ไม่ค่อยกล้าสต็อกกัน" กระเป๋า อธิบาย

ปัจจุบันร้าน Z-Style เปิดขายสินค้ามาถึง 1 ปี และได้เปิดแฟนเพจบน Facebook พร้อมกันเพื่อใช้กระตุ้นด้านการตลาด โดยจะแนะนำสินค้าใหม่พร้อมลิงก์ให้ลูกค้าเข้าไปซื้อสินค้าได้บนหน้าเว็บฯ ประกาศโปรโมชั่นต่างๆ ตามเทศกาลหรือทยอยหมุนสต็อกอย่าง Hot Promotion กับ Cool Promotion หรือสั่งครบ 2,000 จะลด 10-15 เปอร์เซ็นต์

รวมทั้งเป็นช่องทางนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจและพบปะพูดคุยกับลูกค้าเพื่อสร้างความสนิทสนม แต่จะไม่มีการขายสินค้าโดยตรง เนื่องจากจะสร้างความสับสนให้แก่ลูกค้า และดูน่ารำคาญสำหรับผู้ที่ไม่สนใจสินค้าจริงๆ ทำให้แบรนด์สินค้าดูติดลบอีกด้วย

"วิธีการรักษาฐานลูกค้าเก่าของเราก็จะเป็นการติดต่อสื่อสาร เราจะคุยสบายๆ กับลูกค้าเหมือนเป็นเพื่อน อย่างใน Facebook เราก็จะเป็นมิตรดีกว่าทำเป็นทางการ อย่างเด็กๆ เขาก็จะคอมเมนต์เล่นๆ เราก็คุยกับเขาเล่นๆ ดูตลกๆ เหมือนกัน เอาอะไรมาโพสต์ให้ดูขำๆ แกล้งลูกค้ากลับบ้าง เรามีไว้รับผลตอบรับของสินค้าและคอยให้ความบันเทิงกับเขามากกว่าใช้ Facebook เพื่อการขาย ใช้เป็นตัวสร้างความสัมพันธ์มากกว่า เหมือนเป็นฐานแฟนคลับ เราเน้นการบอกต่อมากกว่า ถ้าเขาได้รับการบริการที่ดี เขาก็บอกต่อ" ไกด์ เสริม

ทางด้าน ณัฐ เสริมว่า รางวัลร้านค้าอันดับ 1 จาก LnwShop of the Year 2011 ที่ได้รับจะเป็นกำลังใจให้ทางร้านพัฒนาการให้บริการมากยิ่งขึ้น โดยทั้งสี่เองก็กำลังศึกษาด้าน SEO, Google Adwords และ Google Adsense รวมทั้งรูปแบบการทำเว็บไซต์ การโฆษณา และการทำโปรโมชั่นให้ดียิ่งขึ้นเพื่อต่อยอดตามที่ตั้งใจไว้ และวางแผนจะพัฒนาเป็นแบรนด์ของตนเอง ที่จำหน่ายสินค้าจากแหล่งผลิตและดีไซเนอร์ของแบรนด์ในอนาคต

"ร้านค้าออนไลน์เป็นเรื่องที่ไม่ต้องเสียเวลา และมีการลงทุนไม่สูง คุณไม่ต้องเสียเวลาไปเฝ้า ไม่ต้องจ้างคนงาน เป็นอะไรที่ลูกค้าเข้ามาง่ายมากกว่า และพอเรามีเรื่องของสิ่งรอบตัวมาเกี่ยวข้อง

ถ้าเราทำให้เป็นประโยชน์ได้ก็จะดี ตอนนี้มีธุรกิจหลายอย่างที่เข้ามาในชีวิตประจำวันของเรา ถ้าเราสามารถเปลี่ยนมันเป็นเงินได้ก็เป็นสิ่งดี อย่างอินเทอร์เน็ตถ้าเราเล่นไปเฉยๆ ก็เปลี่ยนประโยชน์ แต่ถ้ามีแนวคิดที่สามารถทำเงินให้เราได้ก็ควรเริ่มทำเลย" ณัฐ แนะนำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook