พนักงานแบงก์ร้องเฮ! หลัง ครม.ไฟเขียว ปรับโครงสร้างเงินเดือน 3 แบงก์รัฐ
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการปรับเพิ่มเงินเดือนของพนักงานธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ให้ปรับเพิ่มเงินเดือนพนักงานที่ยังไม่ถึงอัตราขั้นต่ำของกระบอกเงินเดือน ให้ได้รับในอัตราขั้นต่ำในลำดับแรก และปรับเพิ่มเงินเดือนเพื่อชดเชยพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการที่ได้รับการปรับเงินเดือนเข้าสู่ระดับขั้นต่ำ โดยให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจพิจารณาแนวทางการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบฯ ได้ตามแนวทางที่เหมาะสม รวมแล้วไม่เกิน 1% ของฐานเงินเดือนพนักงาน
ทั้งนี้ ให้ปรับเพิ่มได้เพียงครั้งเดียวตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) โดยการขอปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนและการขอปรับเพิ่มเงินเดือนในแต่ละครั้งจะต้องเว้นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีขึ้นไป โดยมิให้นำเหตุแห่งการปรับเงินเดือนของข้าราชการมาเป็นประเด็นในการพิจารณา
กระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ภายหลังจากที่มีการปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนในครั้งนี้ ทั้ง 3 ธนาคารมีแผนจะใช้เงินรายได้ของตนเองเพื่อจ่ายเป็นค่าตอบแทนพนักงานที่เพิ่มขึ้น จึงไม่เป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน โดยเงินรายได้ดังกล่าวจะนำมาจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ของพนักงานในการสร้างรายได้มาชดเชยและการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ โดยไม่ผลักภาระ ให้แก่ผู้ใช้บริการ
ด้านนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยถึงหลักการในการเพิ่มเงินเดือนและปรับโครงสร้าง 3 ธนาคารรัฐดังกล่าวว่า เนื่องจากทั้ง 3 ธนาคารมีการปรับขึ้นเงินเดือนครั้งสุดท้ายปี 2552, ปี 2554, ปี 2558 ซึ่ง ครม.เคยมีมติว่าถ้าจะปรับก็ให้ปรับเวลาเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหลื่อมล้ำกัน
ในส่วนของ ธ.ก.ส. และ ธอส.ให้ปรับในอัตรา 9,000-250,000 บาท ส่วนธนาคารออมสิน ให้ปรับในอัตรา 9,000-220,000 บาท
“ให้ปรับระดับผู้จัดการและพนักงานทั่วไปในกรณีที่เงินเดือนยังไม่ถึงขั้นต่ำก็ให้ปรับขึ้นไปให้ถึงขั้นต่ำ ส่วนใครที่ถึงขั้นต่ำแล้วให้บอร์ดพิจารณาตามความเหมาะสมแต่ไม่ให้เกิน 1% ของฐานเงินเดือนรวม”นายวิสุทธิ์ กล่าว