นักวิชาการชี้แทรกแซงราคาข้าวบิดเบือนตลาด
นายจารึก สิงหปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่า จากการประเมินด้วยแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ โดยใช้ฐานข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระหว่างปี 2540-2553 พบว่า การแทรกแซงตลาด โดยการเพิ่มระดับราคาข้าวให้สูงขึ้น เป็นการบิดเบือนของกลไกราคา และทางเกษตรกรได้รับประโยชน์ไม่ทั่วถึง ซึ่งมีเกษตรกรเพียงร้อยละ 15 ที่ได้รับประโยชน์โดยตรง รวมทั้งจะทำให้เกิดต้นทุนทางสังคมที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การกำหนดราคารับจำนำข้าว จึงต้องคำนึงถึงราคารับซื้อที่จะส่งผลต่อราคาขาย รวมทั้ง ปริมาณของข้าวในตลาดและคุณภาพข้าว ซึ่งต้องใช้มาตรการดังกล่าวเพียงระยะเวลาสั้นๆ ทั้งนี้ นายจารึก เปิดเผยถึงสถานการณ์ข้าวไทยในปีนี้ ว่า การส่งออกจะมีปริมาณลดลงอยู่ที่ 6.5 ล้านตัน ขณะที่ตลาดส่งออกหลักของข้าวไทย ซึ่งอยู่ในประเทศไนจีเรีย อินโดนีเซีย และอิรัก มีสัญญาณการชะลอตัวของการสั่งซื้อ หลังจากพบว่า ข้าวไทยมีราคาสูงขึ้นจากในปีที่ผ่านมา ร้อยละ 20 ประกอบกับความต้องการข้าวในตลาดโลกลดลง อาทิ ในอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แต่อย่างไรก็ตาม เห็นว่า การที่ทางสหรัฐอเมริกา ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้การส่งออกข้าวลดลงและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ทำให้การกำหนดราคาข้าวในตลาดโลกของไทย สามารถปรับราคาลงได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ให้กับผู้ประกอบการไทย ส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวในอนาคต