สิงห์แนะรัฐเก็บภาษีเบียร์ตามดีกรี ได้ภาษีเพิ่มไม่ต้องรอแก้กฎหมาย

สิงห์แนะรัฐเก็บภาษีเบียร์ตามดีกรี ได้ภาษีเพิ่มไม่ต้องรอแก้กฎหมาย

สิงห์แนะรัฐเก็บภาษีเบียร์ตามดีกรี ได้ภาษีเพิ่มไม่ต้องรอแก้กฎหมาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สิงห์แนะรัฐรื้อวิธีจัดเก็บภาษีเบียร์ตามดีกรี แทนตามมูลค่า จะทำให้ได้เม็ดเงินภาษีเพิ่ม ชี้ทำได้ทันทีโดยไม่ต้องแก้กฎหมายเพื่อขยายเพดานภาษี

แถมช่วยลดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดีกรีสูง ปกป้องอุตฯในประเทศ หลังเปิดเสรี คาดมีของนอกราคาถูกทะลักเข้าไทยเพียบ

นายปิติ ภิรมย์ภักดี ผู้อำนวยการสายการตลาด-ภูมิภาค บริษัทสิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและทำตลาดเบียร์สิงห์, ลีโอ เปิดเผยกรณีที่กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างศึกษาขยายเพดานการจัดเก็บภาษีเบียร์

หลังเพิ่งปรับขึ้นภาษีสุรา 3 รายการว่า รูปแบบที่เหมาะสมในการปรับโครงสร้างภาษีเบียร์ ทางกรมสรรพสามิตควรหันมาจัดเก็บภาษีเบียร์ในฝั่งปริมาณหรือดีกรี

ซึ่งสามารถทำได้ทันที ไม่ต้องไปแก้กฎหมายเหมือนการขยายเพดานการจัดเก็บในเชิงมูลค่า เพราะตามกฎหมายกำหนดให้เก็บภาษีได้สองฝั่ง คือ ฝั่งมูลค่า และปริมาณหรือดีกรี

โดยเลือกฝั่งที่จัดเก็บภาษีได้มากกว่า โดยในส่วนเบียร์นั้นการจัดเก็บภาษีมีการกำหนดโครงสร้างการจัดเก็บออกเป็นร้อยละ 60 ในเชิงมูลค่า และ 100 บาท ต่อลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ในเชิงดีกรี

เลือกการจัดเก็บในเชิงมูลค่าเพราะให้ภาษีกับภาครัฐได้มากกว่าการจัดเก็บในเชิงดีกรี

 

นายปิติกล่าวว่า การปรับโครงสร้างมาใช้ตามดีกรีนั้นภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีเบียร์ได้มากกว่าในเชิงมูลค่า หากมีการกำหนดโครงสร้างที่เหมาะสม

โดยตัวเลขที่คณะกรรมมาธิการเศรษฐกิจการคลัง ร่วมกับทีดีอาร์ไอ เคยศึกษาอัตราภาษีเชิงดีกรีของเบียร์ที่เหมาะสมควรอยู่ที่ระดับ 700 บาทต่อลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หรือ 7 บาทต่อดีกรี

เมื่อนำมาคำนวณภาษีแล้วจะจ่ายภาษีให้รัฐต่อขวดขนาดบรรจุ 630 มล. สำหรับเบียร์อีโคโนมีมากกว่า 27.50 บาท ซึ่งเบียร์อีโคโนมีอย่างลีโอจ่ายภาษีให้ภาครัฐร้อยละ 60 ในเชิงมูลค่าในปัจจุบัน

นายปิติกล่าวว่า การใช้ภาษีตามดีกรี นอกจากจะเป็นไปตามหลักการสากลแล้ว จะช่วยให้ผู้ผลิตหันไปผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำลง เพื่อจ่ายภาษีถูกลง เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค

อีกทั้งการจัดเก็บโปร่งใส ไม่ต้องใช้ดุลพินิจเหมือนการจัดเก็บในเชิงมูลค่า โดยปัจจุบันมีการจัดแบ่งโครงสร้างเบียร์ออกเป็น 3 กลุ่มคือ อีโคโนมี สแตนดาร์ด และพรีเมียม

ในการปรับภาษีเบียร์จากร้อยละ 55 เป็นเต็มเพดานร้อยละ 60 ครั้งล่าสุด เดือนพฤษภาคม ปี 2552 ภาษีของเบียร์สแตนดาร์ดห่างจากอีโคโนมี ขวดละ 7.50 บาท ขณะที่ภาษีเบียร์พรีเมียมต่างจากสแตนดาร์ด เพียง 1 บาท ซึ่งถือว่าไม่สะท้อนราคาขายปลีกที่แท้จริงในท้องตลาด

เรากำลังจะเข้าสู่เออีซี มีการค้าเสรีอีกหลายรายการ ภาษีควรไปเป็นตามหลักสากลคือ ตามดีกรี ซึ่งมีความโปร่งใส ไม่ต้องใช้ดุลพินิจ และสามารถขยายเพิ่มได้ทันทีไม่ต้องไปแก้กฎหมาย หากยังใช้ดุลพินิจ คิดราคาต้นทุนมาให้ สุดท้ายทางการอาจถูกฟ้องร้องเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกรณีบุหรี่มาแล้ว"

นายปิติกล่าวว่า นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างภาษีมาใช้ตามดีกรี ยังจะเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศได้เพราะต่อไปจะมีทั้งวอดก้า วิสกี้ และเบียร์ ราคาถูกเข้ามาดัมพ์ตลาดในประเทศไทย ตามกลไกการค้าเสรี

ทั้งเอฟทีเอ และเออีซี ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้ามีต้นทุนที่ต่ำมาก เช่น เบียร์จากจีน แจ้งต้นทุนเพียง 5 บาท ซึ่งหากไม่ปรับโครงสร้างภาษีไปใช้ตามดีกรี ไทยจะเสียเปรียบผู้ประกอบการต่างชาติเป็นอย่างมาก เพราะต้นทุนที่นำมาใช้คำนวณมีการกำหนดตายตัว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook