"เวิลด์แบงค์"เตือน ราคาอาหารโลกพุ่ง 10% กระทบประเทศยากจน
ธนาคารโลกกล่าวเตือนว่า ราคาอาหารโลกได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเดือนกรกฎาคม สร้างกระแสความกังวลให้แก่ประเทศที่ประสบปัญหาความยากจนอยู่แล้ว
เวิลด์แบงค์กล่าวว่า คลื่นความร้อนในสหรัฐฯ และสภาพแห้งแล้งในเขตยุโรปตะวันออก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาหารมีราคาเพิ่มขึ้น
โดยราคาของพืชผลหลักทางการเกษตร อาทิ ข้าวโพด ข้าวสาลี และถั่วเหลือง มีอัตราการเพิ่มมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ประเทศผู้นำเข้าธัญพืชจะตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นกัน
รายงานของธนาคารโลกระบุว่าเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ราคาข้าวโพด และข้าวสาลีพุ่งขึ้น 25% ส่วนราคาถั่วเหลืองปรับขึ้น 17% มีเพียงแต่ราคาข้าวที่ลดลง 4%
ในสหรัฐฯ สภาพอากาศแห้งแล้งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบกว่า 50 ปี ได้ส่งผลให้พืชผลจำพวกข้าวโพดและถั่วเหลืองได้รับผลกระทบอย่างหนัก ขณะที่ในรัสเซีย ยูเครน และคาซัคสถาน พืชจำพวกข้าวสาลีได้รับผลกระทบเช่นกัน เวิลด์แบงค์กล่าวว่า การใช้ข้าวโพดเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ของผลผลิตข้าวโพดในสหรัฐฯทั้งหมด ยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาข้าวโพดในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง
เมื่อพิจารณาโดยรวม ดัชนีราคาอาหารของธนาคารโลก ซึ่งรวบรวมจากราคาซื้อขายสินค้าอาหารระหว่างประเทศโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 มากกว่าเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว และเป็นอัตรามากกว่าร้อยละ 1 ของจุดสูงสุดครั้งล่าสุด
นายจิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลก กล่าวว่า ไม่ควรให้ปล่อยปัญหาเหล่านี้ดำเนินต่อไป เพราะจะกระทบต่อการได้รับสารอาหารที่น้อยลงของเด็กๆและประชาชน ประเทศต่างๆ ต้องเร่งดำเนินโครงการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและจัดสรรนโยบายที่ถูกต้องเหมาะสม
ซึ่งคาดว่าในภูมิภาคแอฟริกา-ซาฮารา และตะวันออกกลางได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยที่โมซัมบิค ราคาข้าวโพดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 113 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ในซูดานใต้ ราคาข้าวฟ่าง เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 220