สรรพากรอ่วม! รายได้วูบ 1 หมื่นล้าน
นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากการประเมินสถานการณ์จัดเก็บรายได้ภาษีของกรมสรรพากร
คาดว่าตลอดทั้งปีงบประมาณ 2555 นี้ (ต.ค. 54-ก.ย. 55) น่าจะจัดเก็บต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ 1.63 ล้านล้านบาท หรือต่ำกว่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท หลังจากเดือน ก.ค.เก็บเกินเป้าประมาณ 6,000 ล้านบาท
โดยขณะนี้เหลือเพียง 2 เดือนของปีงบประมาณ ซึ่งประเมินว่าในเดือน ส.ค.อาจจะเก็บภาษีนิติบุคคลระหว่างกาลปีบัญชี 2555 (ภ.ง.ด.51) ได้ต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้
"เดือน ส.ค.นี้ ผลจากการลดภาษีนิติบุคคล น่าจะทำให้รายได้หายไปเยอะ รวมทั้งปีก็น่าจะลดไปกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพราะกระทบหลายตัว ทั้งจากการลดอัตราภาษี ทั้งเรื่องน้ำท่วม มาตรการภาษีที่มีการลดภาษีหลาย ๆ ตัว
เรื่อง บีโอไอที่ให้เอาค่าก่อสร้างมาหักได้ ก็หายไปเป็นหมื่นล้านบาท และเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เปลี่ยนเกณฑ์สำรองหนี้สูญใหม่ โดยให้สำรองมากขึ้น ซึ่งรายการนี้รายการเดียวทำให้รายได้สรรพากรหายไปทันที 1.5 หมื่นล้านบาท" นายสาธิตกล่าว
ขณะที่แผนการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ด้วยการลงทุนระบบไอทีและเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่นั้น นายสาธิตกล่าวว่า ได้ยื่นเรื่องไปแล้วซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของกระทรวงการคลัง โดยจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 2,000 ล้านบาท น่าจะมาจากเงินกู้เพราะกระบวนการจัดสรรงบประมาณผ่านไปแล้ว
ทั้งนี้ การลงทุนพัฒนาระบบจะแบ่งเป็น 2 โครงการ ได้แก่ 1.การเชื่อมโยงข้อมูล และ 2.การใช้บัตรสะสมแต้มจากการไปซื้อสินค้าตามร้านค้าต่าง ๆ แล้วนำแต้มดังกล่าวมาใช้ลดหย่อนภาษี ทั้งหมดนี้จะทำให้กรมสรรพากรมีข้อมูลการยื่นการมีเงินได้ของแต่ละบริษัท และแต่ละบุคคล
"เมื่อกระทรวงอนุมัติแล้ว หลังจากนั้นก็จะเป็นการประมูล กำหนดสเป็ก ทำออกชั่นเสร็จแล้วก็ทดลองเครื่อง ผมคิดว่ากว่าจะเริ่มใช้ได้ก็ประมาณ 5-6 เดือน โดยถ้าระบบทำงานเต็มที่แล้ว
คาดว่าหากเต็มปีน่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นสัก 3-4 แสนล้านบาทได้ แต่ถ้าไม่เต็มปีก็อยู่ที่ว่าสำเร็จช่วงไหน เราเชื่อว่าเม็ดเงินจะเพิ่มได้เพราะกระบวนการเชื่อมโยงภาษี ใบกำกับภาษีเป็นซัพพลายเชน ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ" นายสาธิตกล่าว
สำหรับแนวคิดเรื่องบัตรสะสมแต้มนั้น อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า เป็นเรื่องที่บางประเทศทำแล้วประสบความสำเร็จ โดยกรมสรรพากรจะเป็นผู้ออกบัตร ซึ่งผู้ถือบัตรนำไปสะสมแต้มเมื่อซื้อสินค้า เหมือนกับบัตรสะสมแต้มของห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ แล้วก็นำแต้มที่มีมาหักลดหย่อนภาษี ซึ่งก็ต้องมีการกำหนดว่าจะให้หักลดหย่อนได้เท่าใดด้วย
แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรกล่าวว่า รายได้ภาษีของสรรพากรต่ำกว่าเป้า เป็นผลจากน้ำท่วมเป็นหลัก ซึ่งประเมินว่า เฉพาะเขตกรุงเทพฯพบว่าภาษีหายไปประมาณ 7,000 ล้านบาทแล้ว
นางจิตรมณี สุวรรณพูล รองอธิบดีรักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า รายได้ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้า
ส่วนใหญ่มาจากภาษีนิติบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แม้ว่าผลประกอบการของผู้ประกอบการจะดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็มีผลกระทบต่อเนื่องอยู่ และยังมีผลจากการลดภาษี โดยส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลครึ่งปีในเดือน ส.ค.นี้เป็นเดือนแรก โดยยื่นในเดือน ส.ค.นี้ ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มยังเก็บได้เกินเป้าอยู่
สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้รวม 1,238,611 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 8,843 ล้านบาท หรือ 0.7%
โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 16,802 ล้านบาท หรือ 3.3% โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าซึ่งสูงกว่าประมาณการ 7.1% และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 9,810 ล้านบาท หรือ 4.5%
ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลในช่วง 10 เดือน จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 19,401 ล้านบาท หรือ 5.2% เป็นผลจากอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 ทำให้การชำระภาษีจากกำไรสุทธิรอบสิ้นปีบัญชี 2554 (ภ.ง.ด.50) ที่ผ่านมาต่ำกว่าประมาณการ