รวม 10 สายงานที่ตลาดแรงงานต้องการในปี 2562
จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) เว็บไซต์หางานชั้นนำของเอเชีย เปิดเผย 10 สายงานที่เป็นที่ต้องการในตลาดงานประจำปี 2562 อีกด้วย โดยมีสัดส่วนดังนี้
- งานขาย งานบริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ (17%)
- งานไอที-อีคอมเมิร์ซ (12%)
- งานวิศวกรรม (10%)
- งานธุรการและงานทรัพยากรบุคคล (9%)
- งานบัญชี (8%)
- งานการตลาดและงานPR (8%)
- งานธนาคาร งานการเงิน (5%)
- งานท่องเที่ยว งานโรงแรม งานบริการอาหารและเครื่องดื่ม (5%)
- งานขนส่ง (4%)
- งานการผลิต (4%)
นายวรวุฒิ วาริการ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ด้วยประสบการณ์และการให้บริการจัดหางานออนไลน์กว่า 20 ปี ทำให้วันนี้ jobsDB มีฐานข้อมูลจำนวนมาก ประกอบกับเครื่องมือที่ทันสมัยในการประมวลผล ทั้งด้านความต้องการการจ้างงานและการหางาน ทำให้เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลค่าเฉลี่ยอัตราเงินเดือนในสายงานต่างๆ รวมถึงแนวโน้มความต้องการคนทำงานในแต่ละสายงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ที่กำลังจะศึกษาต่อสามารถตัดสินใจเลือกเรียนในสาขาวิชาที่ตลาดงานต้องการ ผู้หางานสามารถเตรียมความพร้อม เสริมทักษะก้าวสู่ตลาดงานอย่างมั่นใจ รวมทั้งผู้ประกอบการเองสามารถวางแผนโครงสร้างเงินเดือนได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ ดังจะเห็นได้จากการรวบรวมข้อมูลในครั้งนี้ ทิศทางสายงานอีคอมเมิร์ซจะเติบโตโดดเด่น ทั้งด้านตลาดงานที่มีความต้องการจ้างงานสูงในทุกตำแหน่ง และผู้ประกอบการเองก็พร้อมให้ค่าตอบแทนในอัตราที่ดีเช่นกัน เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากยิ่งขี้น ธุรกิจต่างๆ จึงต้องปรับกลยุทธ์ให้ก้าวทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
สอดคล้องกับ ผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2561 โดย ETDA พบว่า 1 ใน 5 กิจกรรมที่คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงสุด ได้แก่ การซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์ ซึ่งโตต่อเนื่องกันถึง 2 ปีซ้อน โดยการเติบโตดังกล่าว ไม่เพียงสร้างมูลค่าแก่อีคอมเมิร์ซไทยและผู้ประกอบการ แต่ยังเพิ่มโอกาสการจ้างงาน ด้วยการเกิดตำแหน่งงานใหม่ที่จะถูกป้อนเข้าตลาด เช่น งานพัฒนาซอฟต์แวร์หรือแพลตฟอร์มเพื่อการซื้อขายออนไลน์ งานวางแผนร้านค้าออนไลน์ งานโลจิสติกส์ออนไลน์ งานการตลาดดิจิทัล รวมทั้งฝ่ายขายและงานวิเคราะห์ข้อมูลผลิตภัณฑ์และผู้บริโภค ด้านสายงานการผลิต เช่น งานผลิตทั่วไป งานพัฒนาสินค้า งานตรวจสอบคุณภาพ รวมถึงงานวางแผนและควบคุมการผลิต ที่มาแรงในปีนี้ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของผู้ประกอบการในประเทศไทยต่อการก้าวสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขับเคลื่อนให้เกิดผลผลิตรองรับความต้องการสินค้าและบริการใหม่ๆ ของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป นำไปสู่การสร้างอาชีพใหม่ ธุรกิจใหม่ รวมถึงอุตสาหกรรมใหม่
“นอกจากความรู้ความสามารถที่ตรงสายงานจะมีผลต่ออัตราเงินเดือนแล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้หางานในยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยข้อมูลไม่ควรมองข้าม ก็คือ การติดอาวุธลับสร้างความได้เปรียบ ด้วยการพัฒนาทักษะให้รอบด้าน โดยเฉพาะทักษะด้านความเข้าใจและการจัดการข้อมูล เสริมความรู้ด้านดิจิทัล ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีด้านต่างๆ ต่อยอดความเชี่ยวชาญในสายงานให้แตกแขนงทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง และมีทัศนคติเชิงบวก ซึ่งถือเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีความโดดเด่นและสร้างมูลค่าที่เหนือกว่าผู้สมัครงานคนอื่นๆ ได้” นายวรวุฒิ กล่าวเสริม
รายงานฉบับดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลให้คนทำงานเห็นโอกาสการเติบโตในสายงาน เร่งพัฒนาทักษะและประสิทธิภาพของตนเองให้พร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี จนสามารถเติบโตในสายอาชีพนั้นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นข้อมูลให้นักศึกษาจบใหม่หรือผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานใช้พิจารณาและเตรียมความพร้อมเข้าสู่สายงานที่ตรงกับศักยภาพของตนอีกด้วย