บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้ขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ทุกสถานีแล้ว
กรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแบบบัตรแมงมุม และบัตร EMV Contactless สามารถชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS ได้ทุกสถานี ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2562 เป็นต้นไป เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ถือบัตรฯ นอกเหนือจากการใช้บริการรถเมล์ของ ขสมก. และรถไฟฟ้า MRT
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง พร้อมด้วยนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) ร่วมเปิดการใช้ช่องทางการรับชำระเงินค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ครั้งแรกในปี 2560 ประเภทบัตรแมงมุม เวอร์ชั่น 2.0 , 2.5 จำนวน 1.3 ล้านราย และผู้ที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมในปี 2561 ประเภทบัตร Contactless (EMV 4.0) จำนวน 0.16 ล้านราย รวมทั้งสิ้น จำนวน 1.46 ล้านราย
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานครฯ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีวงเงินในบัตรฯ เพื่อใช้บริการขนส่งสาธารณะ เดือนละ 500 บาท
ทั้งนี้ ผู้ถือบัตรฯ ทั้ง 1.46 ล้านราย สามารถนำบัตรฯ ไปซื้อบัตรโดยสารรถไฟฟ้า BTS ผ่านเครื่อง EDC ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ณ ห้องจำหน่ายบัตรโดยสารฯ บนสถานีรถไฟฟ้า BTS ทุกสถานี จำนวน 43 สถานี
เริ่มให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางให้แก่ผู้ถือบัตรฯ อีกช่องทางหนึ่ง เพื่อความสะดวกในการเดินทางและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิตในแต่ละวัน นอกเหนือจากการใช้บัตรฯ ชำระค่าโดยสารรถเมล์ (ขสมก.) และรถไฟฟ้า (รฟม.) ทั้งสายสีม่วงและสีน้ำเงิน ที่ได้ให้บริการมาก่อนแล้ว
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวถึงการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อเดินทางว่า ผู้ถือบัตรฯ ที่ได้รับบัตรแมงมุม และบัตร Contactless จะได้รับวงเงินค่าโดยสารรถเมล์ (ขสมก.) รถไฟฟ้า (รฟม.) รถไฟฟ้า (BTS) จำนวนเงิน 500 บาทต่อคนเดือน
ส่วนจะมีการใช้จ่ายหรือไม่ ทุกสิ้นเดือนจะตัดวงเงินที่เหลือ และใส่วงเงินให้ใหม่ จำนวน 500 บาททุกเดือน