กนง. คงดอกเบี้ย 1.75% เหตุการเมือง-เศรษฐกิจไทยและเทศ

กนง. คงดอกเบี้ย 1.75% เหตุการเมือง-เศรษฐกิจไทยและเทศ

กนง. คงดอกเบี้ย 1.75% เหตุการเมือง-เศรษฐกิจไทยและเทศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน และในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2562  มีมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี

“สาเหตุที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.75% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงศักยภาพ แม้ว่าจะชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้จากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง ด้านอุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินว่า โดย กนง.ยังเห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ประกอบกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยในประเทศที่สูงขึ้นในปัจจุบัน” นายทิตนันทิ์ กล่าว

ขณะเดียวกันยังได้มีการปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2562 เหลือ 3.8% จากเดิมที่ 4% ขณะที่ในปี 2563 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 3.9%

ด้านส่งออกในปี 2562 ปรับลดลง เหลือ 3% จากเดิม 3.8% ส่วนปี 2563 คาดว่าส่งออกจะขยายตัวได้ 4.1% และการนำเข้าในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.1% และเพิ่มเป็น 4.8% ในปี 2563 

สำหรับการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยจะปรับลดลง มาจากปัจจัยด้านการส่งออกเป็นหลัก รวมทั้งปัจจัยภายในประเทศ ซึ่งต้องพิจารณาข้อมูล (Data Independent) ในการประชุมครั้งต่อครั้ง แต่เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องใกล้เคียงศักยภาพตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ แต่ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 

ทั้งนี้ กนง.จะติดตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศ ทั้งมาตรการกีดกันทางการค้า แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน และเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งความคืบหน้าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป และต้องติดตามพัฒนาการจากตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย การปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ การขยายสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมทั้งทิศทางการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook