ปตท.ลุยสร้างรง.ผลิตพลาสติกชีวภาพแห่งแรก
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. มีแผนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก หรือพลาสติกชีวภาพ ให้เป็นศูนย์กลางการผลิต ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยได้ร่วมทุนกับบริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น หรือ MCC ของประเทศญี่ปุ่น วงเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ หรือ PBS แห่งแรกของไทย ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จังหวัดระยอง ด้วยกำลังผลิต 20,000 ตันต่อปี โดยใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ ซึ่งคาดว่า จะเริ่มเดินเครื่องการผลิตได้ในปี 2558 นอกจากนี้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้เข้าไปถือหุ้นใน บริษัท เนเจอร์เวิร์ค จำกัด ของสหรัฐฯ ในสัดส่วนร้อยละ 50 ซึ่งมีแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA แห่งที่สอง วงเงินลงทุน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำลังการผลิต 1.4 แสนตันต่อปี ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ดังนั้น หากโรงงานทั้ง 2แห่ง เกิดขึ้น จะทำให้ประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตไบโอพลาสติกที่ใหญ่สุดในโลก ปตท. ยัน ไบโอพลาสติก สร้างมูลค่าเพิ่มอุตฯน้ำตาล นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น บมจ.ปตท กล่าวว่า อุตสาหกรรมไบโอพลาสติก หรือ พลาสติกชีวภาพ ที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบหลักนั้น ยืนยันว่า จะไม่ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงวัตถุดิบน้ำตาล ที่ใช้เพื่อการบริโภคในประเทศ เนื่องจาก ปัจจุบัน ไทยมีผลผลิตอ้อยมากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา สามารถส่งออกน้ำตาล มากถึง 7 ล้านตัน จากปกติส่งออกเฉลี่ย 4-5 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ อุตสาหกรรมไบโอพลาสติก ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ น้ำตาลของไทย เกือบ 10 เท่า หรือ คิดเป็นราคา 100 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันที่มีปัญหาราคาผันผวนทั้งนี้ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากไบโอพลาสติกทั่วโลก มีการใช้อยู่ที่ 7 แสนตันต่อปี หรือ ขยายตัวร้อยละ 20-30 ขณะที่ ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกทั่วไป เติบโตเพียงร้อยละ 5-10 ต่อปีเท่านั้น เนื่องจาก ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการลดปัญหาโลกร้อนมากขึ้น