คนกรุงทำใจรถติดยาว 3 ปี ถึง2558 "รถคันแรก-สร้างรถไฟฟ้า 6 สาย
ปัจจุบัน "กรุงเทพมหานคร" ติดโผเป็นเมืองที่มีปัญหาการจราจรติดขัดมากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก
โดยมีปริมาณรถยนต์วิ่งอยู่บนท้องถนนประมาณ 6.8 ล้านคัน เปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ มีถนนรองรับประมาณ 5,887 กิโลเมตร จึงเกิดความไม่สมดุลระหว่างรถกับทาง รถไฟฟ้าสร้างพร้อมกัน 6 สาย
ล่าสุดกระทรวงคมนาคมมีแผนนำระบบขนส่งมวลชนเข้ามาช่วยแก้ปัญหา นอกเหนือจากการตัดถนนใหม่ ๆ แล้ว
โครงการรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้าง 3 สาย มีกำหนดแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการอีก 3-4 ปีข้างหน้า หรือในปี 2558-2560 ประกอบด้วย
1.สายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร กำหนดเปิดบริการเดือนตุลาคม 2558
2.สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 27 กิโลเมตร เปิดบริการธันวาคม 2559
3.สายสีเขียวเข้ม ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.8 กิโลเมตร เปิดบริการเมษายน 2560
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า
ปัจจุบันสภาพปริมาณการจราจรของกรุงเทพฯและปริมณฑลเริ่มหนาแน่นขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งมาจากมีรถยนต์ใหม่เข้ามาเติมมากขึ้น รวมถึงในบางพื้นที่มีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งจะต้องใช้เวลานานกว่าจะเสร็จอย่างน้อย 3-4 ปี ทำให้ปัญหาการจราจรติดหนักรุนแรงมากขึ้น
เช่น ถนนสุขุมวิท รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (แบริ่ง-สมุทรปราการ) กำลังปิดการจราจรบางส่วนเพื่อก่อสร้าง นอกจากนี้มีถนนติวานนท์ ถนนรัตนาธิเบศร์ ที่เป็นไซต์ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) และถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนเพชรเกษม ถนนเจริญกรุง ที่กำลังก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค)
รถคันแรกซ้ำเติมสถานการณ์
"ปัญหาวิกฤตจราจรในกรุงทพฯไม่ใช่ปัญหาที่ครอบคลุมบริเวณที่เป็นคอขวดตามจุดต่าง ๆ กว่า 280 จุดอีกต่อไปแล้ว การแก้ปัญหาต้องทยอยแก้ไปทีละจุด
เช่น ยกเลิกป้ายรถเมล์ ปิดจุดกลับรถ เป็นต้น การปิดการจราจรเพื่อสร้างรถไฟฟ้าก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รถติดมากขึ้น ส่วนใหญ่แนวรถไฟฟ้าจะสร้างอยู่บนถนนสายหลักที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของการเดินทาง"
นายจุฬากล่าวต่อว่า สนข.กำลังเป็นกังวลในขณะนี้คือภายในอีก 3 ปีข้างหน้า ปริมาณการจราจรในกรุงเทพฯและปริมณฑลจะหนักหนาสาหัสมากขึ้นไปอีก
ทั้งรถป้ายแดงตามโครงการรถคันแรกของรัฐบาลที่กำลังทยอยออกมาในปี 2556 เป็นต้นไปจนถึงปี 2558
ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมกำลังจะก่อสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่อีกหลายสาย กระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น สายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) สายสีเขียวเข้ม (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต)
ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ (มักกะสัน-พญาไท-ดอนเมือง) สายสีชมพู (แคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี) สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) สายสีแดง (ตลิ่งชัน-ศิริราช) เป็นต้น
"โครงการเก่ายังไม่เสร็จ มีโครงการใหม่เข้ามาเพิ่มอีก ยิ่งทำให้ติดหนักเข้าไปใหญ่ แทบจะทุกพื้นที่เลยก็ว่าได้ ทั้งกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ยังไม่นับรวมโครงการตัดถนนใหม่ของ กทม. กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และทางด่วนสายใหม่จากศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตกของการทางพิเศษฯ ที่มีแผนจะสร้างในปีหน้าอีกต่างหาก"
งัดสารพัดแนวทางรับมือ
นายจุฬากล่าวว่า จากการประมวลภาพทั้งหมดนี้ สนข.กำลังหาแนวทางรับมือกับวิกฤตการจราจรในปีหน้า เพราะถ้าไม่เตรียมการแต่เนิ่น ๆ อาจจะรับมือไม่ไหว
โดยปกติแล้วเมื่อมีการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่จะต้องมีการแนะนำเส้นทางเลี่ยงให้อยู่แล้ว แต่สถานการณ์ก่อสร้างโครงการของรัฐทั้งในปัจจุบันและเตรียมจะตอกเสาเข็มพร้อมกันเร็ว ๆ นี้
คงจะหาเส้นทางเลี่ยงจุดวิกฤตจราจรได้ลำบาก เช่น ถนนพหลโยธิน รถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่) จะสร้างบนเกาะกลางถนน ถ้าจะวางแผนให้ผู้ใช้เส้นทางเลี่ยงไปใช้ถนนวิภาวดีรังสิตคงไม่ได้แล้ว
เพราะปัจจุบันเส้นวิภาวดีฯก็มีปัญหารถติดเช่นกันทั้งในเวลาเร่งด่วนช่วงเช้าและช่วงเย็น
"มีอีกวิธีการหนึ่งที่เป็นไอเดีย เตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ปรับเวลาทำงานของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจใหม่ เพราะปัญหาวิกฤตจราจรช่วงเช้าเพราะเวลาทำงานข้าราชการใกล้ ๆ กัน คือช่วงเวลา 8 โมงครึ่งถึง 9 โมง ส่วนช่วงเย็นจะไม่มากนักเพราะคนกลับบ้านช้า หรืออาจจะเสนอห้ามนำรถยนต์มาทำงานและให้ใช้บริการขนส่งสาธารณะแทน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถเมล์ เรามองไกลไปถึงในระยะยาวอาจจะเก็บภาษีรถทิ่วิ่งเข้ามาในเมืองด้วย"
นายจุฬากล่าวตอนท้ายว่า การแก้จราจรวิกฤตหนัก คนที่ต้องเดินทางอาจจะต้องทำใจ เนื่องจากหลีกเลี่ยงได้ยากจริง ๆ พื้นที่ที่มีปัญหาการจราจรหนาแน่นอยู่แล้ว เมื่อช่องจราจรหายไปฝั่งละ 1 ช่องจราจร เท่ากับหายไป 33.33% ในทางกลับกันจะก่อปัญหาให้รถติดเพิ่มขึ้นอีก 33% เพราะจะต้องบีบจราจรให้แคบลงเพื่อนำผิวจราจรมาใช้เป็นไซต์ก่อสร้างนั่นเอง
โครงการรถคันแรก กับเงินคืน 1 แสนบาท
ธุรกิจ 6 พันล้าน บนเกาะภูเก็ต "ปลาวาฬ อิสสระ"
รวมไอเดียเริ่มต้นทำธุรกิจ