ค่าโง่โฮปเวลล์ ค่าโง่หมื่นล้าน ค่าโง่ทางด่วน ที่รัฐอาจต้องสูญเงินมหาศาล

มหากาพย์ “ค่าโง่” รัฐอาจต้องสูญ “เงินมหาศาล” เอี่ยวทุจริตพรึ่บ

มหากาพย์ “ค่าโง่” รัฐอาจต้องสูญ “เงินมหาศาล” เอี่ยวทุจริตพรึ่บ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ค่าโง่” กับ “เรื่องโง่ๆ” ในโครงการอภิมหึมาที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 – 10,000 ล้านบาท ที่มีการระบุถึงผลประโยชน์ต่างๆ นานา ในเชิงผูกขาดหรือเอื้อนายทุนใหญ่ บ้างมีส่วนเกี่ยวกันถึงอดีตนักการเมืองชื่อดังในสมัยนั้นด้วย อย่างล่าสุด โครงการโฮปเวลล์ ที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้กระทรวงคมนาคม โดย รฟท. ต้องจ่ายเงินค่าก่อสร้างให้บริษัทโฮปเวลล์กว่า 11,888 ล้านบาท และดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ภายใน 180 วัน

>> ตัดสินคดีโฮปเวลล์! ศาลปกครองสูงสุดสั่งรัฐจ่ายค่าโง่ 12,000 ล้านบาท

แล้วเงินที่ภาครัฐต้องจ่ายเอามาจากไหน?

“ภาษีของประชาชน” ไง

คดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” ไม่ได้เป็นคดีเดียวที่เพิ่งเกิดขึ้นในไทย แต่มีอีกหลายๆ คดีโครงการยักษ์เกิดขึ้นเมื่อ 20-30 ปีก่อน จนรัฐบาลที่ผ่านมาต้องไปตามแก้กันให้วุ่นในชั้นศาล บ้างก็เตะถ่วงเวลาเพราะบางสัญญาอาจทำให้รัฐบาลกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อเห็นตัวเลขค่าโง่ที่สูงถึงหมื่นล้าน หรือการฮั้วกันของนายทุนที่มีส่วนโยงใยไปถึงนักการเมืองด้วย

Sanook! Money ได้รวบรวมมหากาพย์คดีดังที่สื่อทุกแขนงเคยรายงานไปก่อนหน้านี้ โดยส่วนใหญ่เอกชนจะปกป้องผลประโยชน์โดยอ้างสัญญาสัมปทานโครงการมากกว่า 10 – 20 ปี ฟ้องเรียก “ค่าโง่” กับรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะสัญญาที่ระบุว่า “ผู้ลงทุนบอกเลิกสัญญาได้ แต่รัฐบาลไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้” จะมีคดีไหนบ้างไปดูกันเลย

มหากาพย์ 30 ปี ค่าโง่โฮปเวลล์ กับสัญญาที่เอกชนยืนหนึ่ง

hope

ปี 2533 นายมนตรี พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ) เปิดประมูลโครงการถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยบริษัทโฮปเวลล์ ผู้รับเหมาก่อสร้างของฮ่องกงคว้าสัมปทาน 30 ปี ใน เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท

แผนงานก่อสร้างแบ่งออกเป็น 5 ระยะ เริ่มตั้งแต่ปี 2534-2542 แต่งานก่อสร้างกลับล่าช้าเพราะบริษัทโฮปเวลล์ขาดสภาพคล่องทำให้โครงการยักษ์ต้องสะดุด  

ปี 2539 – 2540 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ) เห็นชอบให้ยกเลิกสัญญาสัมปทานโฮปเวลล์

ปี 2541 นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีได้บอกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการ เพราะโครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าเพียง 13.7% หลังดำเนินการมา 7 ปี

ต่อมาบริษัทโฮปเวลล์ยื่นฟ้องกระทรวงคมนาคม และ รฟท. เป็นเงิน 56,000 ล้านบาทเหตุเลิกจ้าง ขณะที่ รฟท. ฟ้องกลับเรียกค่าเสียโอกาสใช้ประโยชน์จากโครงการกว่า 200,000 ล้านบาท

ปี 2551 คณะอนุญาโตตุลาการ ชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. คืนเงินชดเชยให้โฮปเวลล์ จากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมทั้งเงินก่อสร้างและค่าใช้จ่ายอื่นรวม 11,880 ล้านบาท และดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี

กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

ปี 2557 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เพราะเห็นว่าเวลาการเสนอข้อพิพาทเกินกว่ากำหนดระยะเวลา กรณีนี้คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจรับข้อพิพาท แต่รับข้อพิพาทดังกล่าวไว้พิจารณาและมีคำชี้ขาดเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญา จนบริษัทโฮปเวลล์ ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

ปี 2562 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กระทรวงคมนาคม โดย รฟท. ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการปี 2551 คือต้องจ่ายค่าบอกเลิกสัญญา 11,880 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี

ตำ (กิน) นานคดีคลองด่าน กับค่าโง่หมื่นล้าน “เอื้อ” เอกชน “เอี่ยว” นักการเมือง

268710

ปี 2538 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย) ผลักดันโครงการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ เข้าพิจารณาที่ประชุม ครม. จนนายยิ่งพันธ์ มนะสิการ เข้ามารับตำแหน่งแทนนายสุวัจน์ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล พร้อมรับไม้ต่อของโครงการจนที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ

โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นระบบบำบัดน้ำเสีย 2 ระบบ ใช้งบก่อสร้าง 13,600 ล้านบาท 

ปี 2540 กรมควบคุมมลพิษปรับงบเพิ่มขึ้นจาก 13,600 ล้านบาท เป็น 22,900 ล้านบาท พร้อมเปลี่ยนแปลงสเปคการก่อสร้างทั้งหมด โดยมีกลุ่มบริษัท NVPSKG รายเดียวที่มีรูปแบบการก่อสร้างคล้ายกับสเปคของกรมควบคุมมลพิษ ที่สำคัญเป็นกลุ่มบริษัทที่มีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองในรัฐบาลชุดนั้นด้วย

จุดเริ่มต้นของตำ (กิน) นาน มาจากนายวัฒนา อัศวเหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบกว้านซื้อที่ดินชาวบ้านก่อนนำมาขายให้บริษัท คลองด่าน มารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด บริษัทน้องชายของนายวัฒนา ในราคาไร่ละ 1-2 แสนบาท ก่อนส่งถึงมือรัฐบาลในราคาไร่ละ 1 ล้านบาท

ปี 2546 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สมัยรัฐบาลยุคทักษิณ ชินวัตร) ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโครงการฯ พบการทุจริตหลายประการ จึงสั่งระงับโครงการหลังเดินหน้าไป 95% และจ่ายค่างวดไป 54 งวด จากทั้งหมด 58 งวด เป็นเงิน 20,000 ล้านบาท

โดย ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนักการเมืองฐานะเป็นผู้อนุมัติ 3 คน คือ นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ, นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และนายวัฒนา อัศวเหม

ปี 2551 ศาลฎีกาฯ พิพากษาว่า นายวัฒนา อัศวเหม มีความผิดตามฟ้องให้ลงโทษจำคุก 10 ปี แต่เจ้าตัวกลับหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ต่อมากลุ่มบริษัท NVPSKG เรียกร้องให้รัฐจ่ายเงินค่าเสียหายร่วมหมื่นล้านบาท

ปี 2554 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินตามข้อเรียกร้องของกลุ่ม NVPSKG

ปี 2557 ศาลปกครองสูงสุด ได้พิพากษายืนตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ คือรัฐต้องจ่ายตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด

ปี 2559 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติให้รื้อฟื้นคดีโดยขอให้ศาลปกครองกลางพิจารณาคดีใหม่

ปี 2560 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งงดการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่รัฐต้องจ่ายค่าเสียหายไว้ก่อน จนกว่าคดีที่รื้อขึ้นพิจารณาใหม่จะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ปี 2561 ศาลปกครองกลาง พิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้รัฐจ่ายค่าโง่กว่า 9,000 ล้านบาทให้กับกลุ่ม NVPSKG

ค่าโง่ทางด่วนบูรพาวิถี ชวนพลิกล็อคกันน่าดู

istock-523414359

ปี 2538 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ว่างจ้างกิจการร่วมค้าบีบีซีดี และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง วงเงินตามสัญญา 25,000 ล้านบาท

ปี 2543 กิจการร่วมค้าและบริษัท ช.การช่าง เรียกร้องให้ กทพ. ชำระเงินค่าคงที่ที่เพิ่มขึ้นจากสัญญาอีกจำนวน 6,000 ล้านบาท และได้ยื่นข้อเรียกร้องให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยหลังการทางพิเศษฯ ปฏิเสธที่จะจ่ายเงิน

ปี 2544 อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ กทพ. ชำระเงินจำนวน 6,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5% ต่อปีของเงินต้นดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามที่เรียกร้อง แต่ กทพ. ปฏิเสธคำชี้ขาดดังกล่าวตามมติคณะรัฐมนตรี

ปี 2545 กิจการร่วมค้าบีบีซีดี และ บริษัท ช.การช่าง ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ให้พิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาให้ฝ่ายกิจการร่วมค้าบีบีซีดี ชนะคดีและให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ

กทพ. ส่งเรื่องให้สำนักงานคดีแพ่ง สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นทนายความแก้ต่างยื่นคัดค้านคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ดังกล่าวไปยังศาลฎีกาตามขั้นตอนของกฎหมาย

ปี 2549 ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ กทพ. ชนะคดีไม่ต้องจ่ายเงินจำนวน 6,000 ล้านบาท ให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีซีดี โดยวินิจฉัยว่าการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างทางด่วนเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพัน กทพ.

ปี 2551 กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีซีดี ได้ยื่นฟ้อง กทพ. เป็นคดีใหม่ต่อศาลแพ่งในมูลคดีลาภมิควรได้ทุนทรัพย์ 9,600 ล้านบาท และมีพนักงานอัยการ สำนักงานคดีแพ่งได้แก้ต่างให้กับ กทพ.

ปี 2555 ศาลแพ่งพิพากษาให้ กทพ. แพ้คดีต้องชำระเงินจำนวน 5,000 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีซีดี และให้ กทพ. ชำระค่าฤชาธรรมเนียมพร้อมค่าทนายความแทนกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีซีดีอีก 300,000 บาท

พนักงานอัยการ สำนักงานคดีแพ่ง จึงยื่นอุทธรณ์ให้กับการทางพิเศษฯ คัดค้านคำพิพากษาศาลแพ่ง

ปี 2551 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้องกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีซีดีค่าฤชาธรรมเนียม

ปี 2556 กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีซีดีได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว

ปี 2560 ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์โดยให้ยกฟ้องคดี เนื่องจากการทำสัญญาก่อสร้างทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี เกิดจากกระทำโดยไม่สุจริตไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ผูกพัน กทพ. ถือว่าสิ้นสุดแล้ว ส่งผลให้ กทพ. ชนะคดีไม่ต้องจ่ายเงินจำนวน 9,600 ล้านบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook