ผ่า! ทิศทางแท็บเล็ต 2012 ใครจะอยูใครจะไป?
กาลเวลาได้เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า iPad (ไม่ว่าจะรุ่นไหน) คือราชันย์แห่งวงการแท็บเล็ตโดยไม่ต้องสงสัย
รายงานจากหลายบริษัทวิจัยชั้นนำระบุว่า iPad สามารถครองส่วนแบ่งตลาดมากถึง 60-70% และยังมีไม่มีทีท่าว่าจะลดลงในระยะเวลาอันใกล้ ขณะเดียวกันหลายบริษัทคู่แข่งก็ได้พยายามกระโจนเข้าสู่ตลาดที่มีอนาคตอันสดใสนี้
โดยใช้กลยุทธ์ที่ต่างกันไป บ้างทำซอฟท์แวร์ให้บริษัทอื่นนำไปใช้ (Google) บ้างก็พัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ (HP, BlackBerry) แต่ก็ยังคงไม่มีบริษัทใดสามารถโค่นแชมป์เก่าลงได้สำเร็จ
แต่ถึงอย่างไร ได้มีนักวิเคราะห์หลายรายให้ความเห็นตรงกันว่า จุดอ่อนที่ Apple ยังคงเปิดช่องว่างไว้ให้คู่แข่งกินส่วนแบ่งจากเค้กก้อนโตชิ้นนี้ก็คือ ความหลากหลายของที่ยังนับว่าน้อย (มีเพียงหน้าจอขนาดเดียว) และการที่เรายัง
คงใช้ทำอะไรไม่ค่อยได้มากกว่าบริโภคคอนเทนต์ไปวันๆ จุดนี้เองที่เหมือนกับเป็นการเปิดช่องว่างให้ Amazon และ Google เปิดตัวแท็บเล็ต Kindle Fire และ Nexus 7 ซึ่งมีขนาดหน้าจอเล็กลงมาเหลือ 7 นิ้ว
และมีราคาถูกกว่าเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ต้องการความสะดวกในการพกพา รวมทั้งเป็นการเปิดช่องให้ Microsoft เปิดตัว Surface แท็บเล็ตที่เน้นการสร้างสรรค์คอนเทนต์ไปพร้อมๆ กับเสพแอปพลิเคชัน เหมือนกับเป็นคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่งนั่นเอง
iPad Mini อุดช่องว่างด้านราคา?
แน่นอนว่าตัวเลขยอดขายของ iPad ยังคงน่าประทับใจ ในรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสสาม 2012 ให้ข้อมูลว่า Apple สามารถจำหน่าย iPad 2 และ The New iPad รวมกันได้มากถึง 17 ล้านเครื่อง มากกว่าไตรมาสที่ผ่านมาถึง 44% ยอดขายที่เพิ่มขึ้นมากเช่นนี้เป็นตัวชี้วัดอันยอดเยี่ยมที่แสดงให้เห็นถึงการยอมรับจากผู้บริโภคอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากจุดแข็งด้านอื่น อาทิ ปริมาณแอปพลิเคชันที่ในปัจจุบันมีมากกว่า 225,000 รายการ มากที่สุดในหมู่แท็บเล็ตทั้งมวล รวมทั้ง Apple Retail Store ร้านค้าปลีกซึ่งช่วยเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เหนือชั้นมากขึ้นที่ในปัจจุบันมีมากกว่า 360 สาขาทั่วโลก
ปัจจุบันมีบริษัทคู่แข่งที่พัฒนาแท็บเล็ตหน้าจอเล็กออกมามาก จึงทำให้ข่าวเกี่ยวกับ iPad Mini ที่มีหน้าจอราว 7 นิ้วมีออกมาให้เห็นไม่ขาดสายเช่นกัน ส่วนตัวคิดว่า ในตอนนี้คำถามไม่ใช่อยู่ที่ Apple จะทำ iPad Mini ออกมาหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่า จะทำมาทำไมและเพื่ออะไรมากกว่า เนื่องจากจริงอยู่ที่คู่แข่งจะพัฒนาแท็บเล็ตหน้าจอ 7 นิ้วออกมาป้อนกลุ่มลูกค้ากระเป๋าเบาและชื่นชอบความสะดวก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเสียงตอบรับและยอดขายที่ได้จะดีมากเสมอไป รายงานจาก International Data Corporation (IDC) ระบุว่า ยอดขายของ Kindle Fire ประจำไตรมาสสุดท้ายของปี 2011 อยู่ที่ 4.7 ล้านเครื่อง (Kindle Fire เริ่มจำหน่ายวันที่ 15 พฤศจิกายน 2011 ยอดขายดังกล่าวจึงนับว่าดีมาก) แต่หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้ยินรายงานยอดขายแท็บเล็ตตัวนี้ อีกเลย การที่ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขออกมาอีกนับว่าเป็นประเด็นให้ถกเถียงถึงการยอมรับแท็บเล็ตหน้าจอมินิตัวนี้ว่าดีขึ้นหรือน้อยลงเพียงไร อีกคำถามหนึ่งที่ยังคงไม่ได้รับคำตอบก็คือ หน้าจอขนาด 7 นิ้วคือขนาดที่เหมาะสมแล้วหรือ? คำพูดของ Steve Jobs ที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดก็คือ หน้าจอขนาดดังกล่าวนั้นเล็กเกินไปที่จะแสดงคอนเทนต์ออกมาได้สวยงาม และผู้ผลิตคงต้องแถมกระดาษทรายให้ผู้ใช้ไปขัดนิ้วตัวเองให้เล็กลงเพื่อที่จะใช้งานได้อย่างสะดวก! อีกทั้งตอนนี้ต้องไม่ลืมว่า iPad ที่วางขายมีอยู่ด้วยกันสองความละเอียด คือแบบธรรมดา (iPad 1 กับ 2) และ Retina Display (The New iPad) การที่ไปเพิ่ม iPad Mini ที่มีหน้าจอและความละเอียดน้อยลงอาจสร้าไปอีกอาจสร้างความยุ่งยากให้กับโปรแกรมเมอร์ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน ก่อให้เกิดปัญหา fragmentation ตามมาเช่นเดียวกับที่ Android กำลังประสบ เว้นเสียแต่ว่าจะสามารถแก้ปัญหาด้วยการทำให้หน้าจอและขนาดเครื่องเล็กลงจริง แต่คงความละเอียดไว้เท่าเดิม
อย่างไรก็ดี ได้มีผู้วิเคราะห์ให้ความเห็นว่า การที่ iPad ครองส่วนแบ่งตลาดได้เพียง 3 ใน 4 นั้นอาจไม่ใช่ข้อดีในระยะยาว เพราะแน่นอนว่านับวัน Apple จะต้องเผชิญคู่แข่งจากหลากหลายแบรนด์มากขึ้น ไม่เฉพาะแต่ Google หรือ Amazon แต่กับทั้ง Microsoft และกระทั่ง Barnes & Noble ร้านหนังสือรายใหญ่ที่ล่าสุดได้เงินจาก Microsoft ไปลงทุนในส่วนของ Nook อีรีดเดอร์ชื่อดังอีกแบรนด์ จึงทำให้ในอนาคตเราอาจได้เห็น Windows ไปโลดแล่นบนอีรีดเดอร์ดังกล่าว เท่ากับเป็นการเพิ่มคู่แข่งเพิ่มอีกราย Ryan Jones จากบล็อก iamconcise (www.iamconcise.com) ชี้ให้เห็นว่าอุปกรณ์ของ Apple ได้รับการแบ่งเป็น 3 ระดับราคาไล่ไปตั้งแต่ บน กลาง และล่าง โดยเขาอธิบายเพิ่มเติมไว้อย่างน่าสนใจว่า ที่ผ่านมา Apple ใช้กลยุทธ์ 3 ประการในการอุดช่องว่างด้านราคา คือ 1. สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาโดยให้มีราคาถูกลง (iPod) 2. ขายฮาร์ดแวร์เก่าในราคาที่ต่ำกว่า (iPhone, iPad) และ 3. หาผู้ให้เงินหนุน (iPhone ในอเมริกาที่มีผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายคอยรองรับในส่วนนี้ ทำให้สามารถขายตัวเครื่องในราคาที่ถูก แต่ก็ต้องแลกมากับการติดสัญญาใช้งานตามข้อบังคับ) ปัจจุบันราคาเริ่มต้นของ The New iPad อยู่ที่ 499 เหรียญสหรัฐ จึงนับเป็นโมเดลระดับบน ส่วน iPad 2 เริ่มต้นที่ 399 เหรียญ จึงนับเป็นโมเดลระดับกลาง (ใช้กลยุทธ์ที่สองคือขายฮาร์ดแวร์เก่าในราคาต่ำ) ฉะนั้นก็เหลือแต่โมเดลในช่วงระดับราคา 399 เหรียญลงมา ที่มีความเป็นไปได้มากว่าอาจใช้ iPad Mini มาอุดช่องว่างด้านราคาตรงนี้ตามกลยุทธ์แรกเหมือนกับ iPod
Microsoft Surface ทำเองขายเอง จะรอดหรือ?
ในที่สุด Microsoft ก็กระโดดลงมาเล่นตลาดแท็บเล็ตด้วยการเปิดตัว Surface แท็บเล็ตระบบปฏิบัติการ Windows 8 ที่แบ่งเป็นสองรุ่นย่อยคือ โมเดลที่ใช้ Windows RT กับโมเดลที่ใช้ Windows 8 Pro ทั้งสองโมเดลมีสเปคภายนอกที่คล้ายกัน โดยประกอบไปด้วยหน้าจอ 10.6 นิ้ว ชนิด ClearType HD Display รองรับคีย์บอร์ดทั้งแบบ Touch และ Type Cover พร้อมด้วยสารพันพอร์ตเชื่อมต่อภายนอกเพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย สำหรับจุดที่ไม่เหมือนกันคือ โมเดลที่ใช้ Windows 8 Pro จะมีน้ำหนักและความหนาที่มากกว่า รองรับการใช้งานร่วมกับโปรแกรมทั่วไปบนเดสก์ท้อปได้ ในขณะที่โมเดล Windows RT จะใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชันเมโทรได้อย่างเดียว เปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือ โมเดล Windows RT ก็เหมือนกับ iPad คือออกแบบมาสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป เน้นการใช้งานอย่างท่องเว็บ ดูหนัง ฟังเพลง ส่วนโมเดล Windows 8 Pro จะเหมาะกับกลุ่มผู้ใช้งานขั้นสูงที่ต้องการใช้งานแท็บเล็ตเหมือนกับพีซีอีกตัว
แน่นอนว่าเมื่อดูจากสเปคแล้วจะเห็นว่า Surface ของ Microsoft ไม่เพียงแต่ได้รับการออกแบบเพื่อบริโภคคอนเทนต์อย่างเดียวเหมือนกับ iPad เท่านั้น แต่ออกแบบมาเพื่อให้มีความเป็น productive หรือใช้สร้างสรรค์ผลงานได้ด้วย ดังจะเห็นได้จากรองรับคีย์บอร์ดและพอร์ตเชื่อมต่อมากมาย โมเดล Windows RT มีแอปป์ Office มาให้ในตัว ส่วนโมเดล Windows 8 Pro ก็รองรับโปรแกรมบนเดสก์ท้อปได้ ฟังดูช่างสะดวกสบายเสียจริง!
อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ Surface ไว้มากมาย เริ่มจากการออกช้าหลังคู่แข่งนานนับปี มีแอปพลิเคชันและหน้าร้านน้อย จึงอาจดึงดูดผู้พัฒนาและกลุ่มลูกค้าได้ลำบาก รวมทั้งการที่ Microsoft ทำเองขายเองนั้นอาจบั่นทอนความสัมพันธ์ที่มีต่อคู่ค้าพีซีรายอื่น เช่น Dell และ HP ที่มีข่าวว่าจะพัฒนาแท็บเล็ต Windows 8 เช่นกัน และที่สำคัญคือ การที่แบ่ง Surface ออกเป็นสองโมเดลแทนที่จะเป็นข้อดีแต่อาจสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค
แต่ไม่ว่าจะมีอุปสรรคและมีผู้ตั้งข้อสังเกตมากเพียงไร Microsoft คงไม่สามารถผลิตซอฟท์แวร์อย่างเดียวได้อีกต่อไป เพราะที่ผ่านมาคงไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ถึงการเติบโตของแนวโน้มการใช้งานอุปกรณ์พกพาซึ่งล้วนส่งผลให้ยอดขายพีซีใกล้ถึงจุดอิ่มตัวและแน่นอนว่าต้องไปกระทบกับยอดขายซอฟท์แวร์ด้วยไม่มากก็น้อย ครั้นจะไปพึ่งพาผู้ผลิตรายอื่นทำฮาร์ดแวร์อย่างเดียวก็ดูเหมือนจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง เพราะไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะสามารถดึงศักยภาพของซอฟท์แวร์ออกมาได้มากที่สุด อันเป็นปัญหาที่ Android กำลังเผชิญ เท่ากับว่าเหลืออยู่เพียงทางเลือกเดียวนั่นคือลงมาทำแท็บเล็ตขายเองเพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้ผลิตรายอื่นได้เห็น ทั้งนี้ เว็บไซต์ Business Insider ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ที่ผ่านมา Microsoft จะลงมาทำฮาร์ดแวร์ด้วย 2 เหตุผลหลักที่ล้วนเกี่ยวกับผลประโยชน์ของ Windows ทั้งสิ้น เหตุผลแรกคือ เห็นว่าฮาร์ดแวร์ของคู่แข่งอาจกระทบกับยอดขายของ Windows โดยตรง ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จก็คือ Xbox เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีการพูดถึงว่าเครื่องเกมคอนโซลอาจมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นศูนย์กลางความบันเทิงของบ้านแทนที่พีซี ทางบริษัทจึงกระโดดลงมาทำเองเสียเลย แม้อาจกินส่วนแบ่งผู้ใช้ Windows ไปบ้าง แต่ก็ดีกว่ายอมเสียลูกค้าให้บริษัทอื่นไป ส่วนเหตุผลที่สองก็คือ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งาน Windows เพิ่มขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การลงมาพัฒนาเมาส์และคีย์บอร์ดภายใต้แบรนด์ของตน เนื่องจากในช่วงที่ Windows เวอร์ชันแรกๆ วางตลาด ผู้ใช้งานทั่วไปยังไม่มีความคุ้นเคยกับอินเทอร์เฟสกราฟิกที่ใช้เมาส์คลิ้กมากนัก การลงมาทำฮาร์ดแวร์ให้ผู้ใช้และผู้ผลิตรายอื่นได้ตระหนักถึงศักยภาพของอินเทอร์เฟสใหม่ย่อมเป็นทางออกที่ดีในระยะยาว ทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้มากขึ้น
และเหตุผลที่สองนี่เองซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ Microsoft หันมาพัฒนาแท็บเล็ต เพราะในสายตาของ Microsoft แล้ว แท็บเล็ตไม่ใช่ของใหม่ แต่หากคือพีซีที่เราสามารถพกไปไหนได้อย่างสะดวก ปัญหาคือยังไม่มีใครสามารถเข้าถึงประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริงเท่านั้น แต่ทั้งนี้ Microsoft คงต้องตอบคำถามหลายประการก่อน อาทิ ทำอย่างไรจึงจะดึงดูดผู้พัฒนาแอปพลิเคชันให้ได้มากกว่า รวมทั้งราคาขายที่ต้องไม่แพงเกิน เพราะนอกจากจะไปชนกับคู่แข่งแล้ว ยังอาจล้ำเส้นไปกระทบกับตลาด Ultrabook ที่มีฟังชันใช้งานมากกว่า และสุดท้ายคือต้องทำฮาร์ดแวร์ให้เจ๋งจริง เพราะคำตอบสุดท้ายย่อมอยู่ที่เสียงตอบรับของผู้บริโภค
Google กับการแก้ปัญหา fragmentation
แน่นอนว่า Nexus 7 หาใช่แท็บเล็ต Android ตัวแรก เพราะก่อนหน้านี้เราก็ได้เห็นแท็บเล็ตหุ่นเขียวหลายรุ่น สร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากมาย แต่นั่นกลับไม่ใช่คำตอบ เพราะการที่มีออปชันล้นเหลือนั้นไม่ได้หมายความว่าแต่ละตัวจะมอบประสบการณ์ใช้งานที่เหมือนกัน บางรุ่นขาดระบบสัมผัสที่ลื่นไหล บางรุ่นมีความละเอียดหน้าจอน้อยหรือมากกว่ารุ่นอื่น บางรุ่นขาดพอร์ตเชื่อมต่อที่รุ่นอื่นมี บางรุ่นอัปเดตไปใช้ Android ตัวใหม่ไม่ได้ ปัญหา fragmentation เหล่านี้ไม่เพียงแต่จะสร้างปัญหาให้กับนักพัฒนาแอปพลิเคชันที่ต้องวุ่นวายทดสอบกับฮาร์ดแวร์หลายรุ่นเท่านั้น แต่ยังสร้างปัญหากับผู้บริโภคที่ต้องมานั่งปวดเพราะนึกไม่ออกว่าจะซื้อรุ่นใด
จะเห็นได้ว่าปัญหาดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่ Microsoft พยายามหลีกเลี่ยงด้วยการลงมาพัฒนาฮาร์ดแวร์เอง ในการนี้ Google คงเห็นพ้องตรงกันว่า บริษัทคู่ค้าคงยังไม่สามารถดึงประสิทธิภาพของซอฟท์แวร์ออกมาใช้ได้มากพอ จึงต้องการสร้างมาตรฐานให้เห็น นอกจากนั้น บางทีลูกค้ากระแสหลักอาจไม่ต้องการตัวเลือกฮาร์ดแวร์ที่หลากหลายใดๆ แต่ต้องการประสบการณ์ใช้งานอันยอดเยี่ยมที่แสดงความสำเร็จให้เห็นแล้วในโมเดลของ Apple อีกทั้งในระยะยาวแล้วจะช่วยเสริมภาพลักษณ์ของ Android ให้ดียิ่งขึ้นและเป็นการสร้างกลุ่มลูกค้าที่เป็นแฟนบอยซึ่งมีความจงรักภักดีสูง สุดท้ายการลงมาทำฮาร์ดแวร์เองยังเป็นการเสริม ecosystem ของ Google Android ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะมีซอฟท์แวร์อยู่แล้ว ขาดแต่เพียงฮาร์ดแวร์ที่จะดึงศักยภาพออกมาใช้ให้ได้มากสุดเท่านั้น
แต่กระนั้นก็ดี อนาคตของแท็บเล็ต Google ยังคงต้องดูกันอีกยาว เพราะข้อสังเกตคือ Google ขายแท็บเล็ตของตนผ่านทางออนไลน์เท่านั้น การที่ไม่มีหน้าร้านของตนให้ลูกค้าได้ทดลองใช้จริงอาจไม่สามารถสร้างความประทับใจได้ดีเท่า อีกทั้งต้องไม่ลืมว่ารายได้หลักของ Google มาจากการโฆษณาออนไลน์ และอาจไม่ได้ตั้งใจลงมาพัฒนาฮาร์ดแวร์อย่างจริงจัง สุดท้ายก็คือ เช่นเดียวกับ Microsoft สิ่งที่ Google ต้องตอบให้ได้ก็คือ หากลงมาทำฮาร์ดแวร์เอง แล้วคู่ค้าเจ้าเก่าอย่าง Samsung หรือ Motorola ล่ะ? แน่นอน ทางบริษัทคงต้องพึ่งพิงคู่ค้าเหล่านี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ และปัญหา fragmentation ก็คงต้องอยู่ต่อไป แต่จะไปในทิศทางใดก็คงต้องขึ้นอยู่กับความสำเร็จของ Nexus 7 เองด้วย
ช่วงครึ่งหลังของปีเราได้เห็นความเคลื่อนไหวน่าสนใจในวงการแท็บเล็ตมากมาย หลายบริษัทมีแนวโน้มที่จะทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ทั้งแท็บเล็ต 7 นิ้วจาก Apple หรือแท็บเล็ต Surface จาก Microsoft ซึ่งทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงในแวดวงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทั้งยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่แต่ละบริษัทกำลังเผชิญ แล้วคุณล่ะจะเลือกอยู่ค่ายไหน?