สงครามการค้ายังระอุหลังจีนงัดไพ่เด็ด จับตาสหรัฐฯออก "หมัดปริศนา" สู้ยิบตา!
เดือดร้อนกันทั่วหน้า หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นกำแพงภาษีจีนจากเดิม 10% เป็น 25% พร้อมสั่งห้ามใช้เทคโนโลยีของจีน และบอยคอต Huawei ชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน
ทว่าผลกระทบมาตรการแข็งข้อของ โดนัลด์ ทรัมป์ กลับไม่สะทกสะท้านจีนเลยแม้แต่น้อย คนที่รับเคราะห์ก็หนีไม่พ้นผู้บริโภค และเจ้าของแบรนด์รายใหญ่ของสหรัฐฯมากกว่า ถึงขั้นวอนขอให้ ทรัมป์ ยกเลิกการขึ้นกำแพงภาษี 25% เนื่องจากสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนจะมีราคาแพงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Nike, Addidas และ Under Armour หากพลิกดูด้านหลังสินค้าจะพบกับคำคุ้นเคย
“Made In China” แม้จะห้อยท้ายว่า “Designed In U.S.A.” ก็ตาม
สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ปะทุและระอุต่อเนื่อง สมัยที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 พร้อมรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับชาวอเมริกันว่า “Make America Great Again” ด้วยการไล่เช็กบิลประเทศที่ทำให้สหรัฐฯ เสียดุลการค้ามากที่สุด ซึ่งก็หนีไม่พ้นประเทศจีนนั่นเอง
แต่! ต้นตอที่แท้จริงของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน (Trade War) เกิดขึ้นเมื่อหลาย 10 ปีก่อน และอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความยืดเยื้อ? เรามีคำตอบมาฝากกัน
Sanook! Money ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB ถึงจุดเริ่มต้นของสงครามการค้าสองขั้วมหาอำนาจที่ป่วนตลาดเศรษฐกิจทั่วโลก
การค้าเสรีสู่สมรภูมิกีดกันทางการค้า "มังกร VS อินทรี"
ดร. นริศ เล่าย้อนไปเมื่อปี 2001 ประเทศจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือ World Trade Organization (WTO) ซึ่งเป็นองค์การที่ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศโดยเสรี ขจัดอุปสรรคทางการค้ากำแพงภาษีศุลกากร มาตรการต่างๆ ที่บิดเบือนกลไกการค้าเสรี ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนา และยังเป็นเวทีการแก้ไขข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ
การเข้าเป็นสมาชิก WTO ของจีนทำให้สินค้าที่ผลิตด้วยค่าแรงที่ถูก เข้าถึงตลาดโลกได้ง่ายขึ้น นักลงทุน หรือผู้ประกอบการเห็นข้อดีจึงแห่ย้ายฐานการผลิต-ทิ้งโรงงานในประเทศที่มีต้นทุนการผลิตสูงมาที่ประเทศจีนแทน ส่งผลให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก และประเทศที่นำเข้าสินค้าจากจีนมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา
จนสหรัฐฯ เริ่มเกิดการขาดดุลทางการค้าและบริการตั้งแต่นั้นมาอย่างต่อเนื่อง
"ทรัมป์" หวังกู้ศักดิ์ศรีอินทรีให้ผงาดอีกครั้งตามสโลแกน "Make America Great Again"
ดร.นริศ เล่าว่าเมื่อปีที่ผ่านมาทั่วโลกขาดดุลทางการค้ามากถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ โดยสหรัฐฯขาดดุลทางการค้า 43% มูลค่าอยู่ที่ราว 430,000 ล้านดอลลาร์
โดยประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ที่เกินดุลการค้ามี 3 ประเทศหลัก ดังนี้
- จีน
- แคนนาดา
- เม็กซิโก
แต่เป้าหมายหลักของสหรัฐฯ คือ จีน เนื่องจากตลาดจีนเติบโตเร็วมาก หากปล่อยให้จีนโตต่อไปก็อาจจะกินรวบประเทศแทบทั้งโลกเลยก็ว่าได้ ซึ่งเรื่องนี้สหรัฐฯไม่มีทางยอมอย่างแน่นอน จึงเกิดการกีดกันทางการค้าด้วยการตั้งกฎเหล็กเกี่ยวกับกำแพงภาษี มาตรการการนำเข้าสินค้า รวมถึงคุณภาพ และสุขภาพของผู้บริโภค เป็นต้น โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2008 – ปัจจุบัน
ปี 2008
- สหรัฐฯ กีดกันทางการค้ากับจีน 643 ข้อ
- จีน กีดกันทางการค้ากับสหรัฐฯ 10,813 ข้อ
ปี 2018
- สหรัฐฯ กีดกันทางการค้ากับจีน 126,115 ข้อ
- จีน กีดกันทางการค้ากับสหรัฐฯ 98,449 ข้อ
ปัญหาระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ยืดเยื้อมานาน 18 ปี และหนักขึ้นหลายเท่าเมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ถอดรหัสไพ่เด็ดดวงสองขั้วมหาอำนาจ
หากถามถึงตอนนี้ใครเป็นแต้มต่อระหว่างสหรัฐฯกับจีน ดร.นริศ มองว่า แต่ละฝ่ายต่างมีไพ่ในมือที่ต่างกัน โดยแบ่งได้ดังนี้
ไพ่เด็ดของจีน
- Rare Earth เป็นแร่ที่ใช้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ไฮเทค รวมถึงแบตเตอรี่รถยนต์
- จีนถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐรายใหญ่ที่สุดในโลกเกือบ 1.13 ล้านล้านดอลลาร์
- เทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) ของจีนใช้สแกนใบหน้าได้เป็นเจ้าแรกของโลก
- เทคโนโลยี 5G ที่สามารถรับส่งข้อมูลในปริมาณที่มากกว่า 4G ถึง 1,000 เท่า
ไพ่เด็ดของสหรัฐฯ
- ผู้บริโภคชาวอเมริกัน (American Consumers) ที่ซื้อของจากประเทศจีน
ดูเหมือนไพ่ของสหรัฐฯ จะเป็นการรักษาสัญญาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะอีกไม่นานจะครบวาระแล้ว และจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2020 ด้วย
สุดท้ายไพ่เด็ดของสองขั้วมหาอำนาจนี้ ใครจะงัดออกมาข่มขู่อีกฝ่ายได้ผลมากกว่ากัน
หรือนี่…จะเป็นการออกท่าทาง (Action) เพื่อที่จะหาข้อตกลงเรื่องการค้าอีกครั้งในการประชุม G20 ที่จะจัดขึ้นปลายเดือนมิถุนายน 2019 เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ตามที่นักวิเคราะห์หลายคนได้คาดการณ์ไว้
หลังจากนี้คงต้องติดตามกันระหว่าง “อินทรี” กับ “มังกร” ใครจะกลับมาผงาดอีกครั้ง หรือจะแต้มเท่ากัน?
>> ไล่เหตุการณ์สงครามการค้าสหรัฐ-จีน สะท้านโลก ตั้งแต่เริ่มปล่อยหมัดกำแพงภาษียกแรก