สรรพากรสั่งศึกษานโยบายหาเสียงพรรคขั้วรัฐบาล หวั่นกระทบแผนจัดเก็บรายได้
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรศึกษานโยบายทางภาษีต่างๆ ของพรรคการเมืองที่คาดว่าจะได้จัดตั้งรัฐบาลที่ใช้หาเสียงไว้ว่าแต่ละมาตรการจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการจัดเก็บรายได้รัฐบาลอย่างไร แม้หลายมาตรการจะส่งผลดีต่อประชาชนก็ตาม แต่ถ้าการจัดเก็บรายได้แผ่นดินลดลง ก็จะกระทบกับเศรษฐกิจในประเทศมีผลต่อเสถียรภาพการคลัง และจำเป็นต้องมีมาตรการอะไรมาชดเชย เพื่อไม่ให้กระทบกับเสถียรภาพการคลังของประเทศ เป็นเรื่องที่กรมสรรพากรต้องเตรียมไว้เสนอรัฐบาลใหม่ทั้งหมด
“หน้าที่ของข้าราชการ ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนมาเป็นรัฐบาล ก็ต้องเคารพและเสนอผลกระทบของนโยบายอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งนโยบายทุกพรรค กรมฯ ก็มีทีมศึกษาไว้อยู่ ทุกนโยบายแม้จะมีประโยชน์กับประชาชน แต่ก็มีต้นทุน ก็ต้องเสนอผลการวิเคราะห์ผลกระทบให้รัฐบาลใหม่พิจารณา เพราะทุกนโยบายไม่มีอะไรเป็นประโยชน์อย่างเดียว มันมีต้นทุน หน้าที่เราไม่ได้เป็นฝ่ายตัดสินใจ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับรัฐบาล” นายเอกนิติ กล่าว
ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองมีการเสนอให้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% และเว้นภาษีสินค้าออนไลน์ 2 ปี จะกระทบกับการจัดเก็บหรือไม่นั้น อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า ขณะนี้ทีมงานกรมสรรพากรกำลังดูว่ามีนโยบายช่วยเหลือเรื่องอะไรบ้าง การลดภาษีจะกระทบกับเสถียรภาพการคลังหรือไม่ จำเป็นต้องมีการหารายได้อื่นมาชดเชย ซึ่งขณะนี้พิจารณาไว้หลายแนวทาง เช่น กรณีลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แล้วในหลักการจัดเก็บจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ และจะทำอย่างไรให้เดินหน้าได้ ซึ่งอาจจะต้องมีการยกเลิกมาตรการหักค่าลดหย่อนในบางรายการที่หมดความจำเป็นออกไป
ทั้งนี้ ค่าหักลดหย่อนภาษีในปี 2562 มีมากกว่า 10 รายการ ซึ่งแต่ละมาตรการก็มีข้อดี ข้อเสีย เช่น ค่าหักลดหย่อนส่วนตัว หักค่าลดหย่อนจากรายจ่ายซื้อประกัน ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบุพการี ค่าลดหย่อนดูแลผู้พิการ เป็นต้น ซึ่งค่าลดหย่อนที่มีหลายรายการ ก็ทำให้เวลายื่นแบบวุ่นวาย ยุ่งยาก ถ้าลดหย่อนไม่มาก กระบวนการต่าง ๆ ก็ลดลง รวมทั้ง ค่าลดหย่อนจากมาตรการพิเศษรายปี เช่น มาตรการช้อปช่วยชาติ ซึ่งถ้ามีการลดภาษีเงินได้ในภาพรวมไปแล้ว ค่าลดหย่อนก็ไม่จำเป็นต้องให้อีก ส่วนจะมีการยกเลิกลดหย่อนภาษีจากการซื้อหน่วยลงทุนระยะยาว (LTF) หรือไม่ ยังระบุไม่ได้เพราะเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาล
นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า การพิจารณาปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 7% แต่ยังมีกรอบที่จะสามารถจัดเก็บได้ที่ 10% นั้น เรื่องนี้เป็นประเด็นคลาสสิก คำตอบจึงมีความอ่อนไหว ซึ่งการจะปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถือเป็นรายได้สำคัญของรัฐ มีสัดส่วนกว่า 40% ของรายได้กรมสรรพากร จะต้องพิจารณาให้รอบคอบและดูภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจเพราะจะมีผลกระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งทุกอัตราภาษี 1% ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง คิดเป็นรายได้รัฐที่เพิ่มหรือลดลง 7 หมื่นล้านบาท และขณะนี้เศรษฐกิจก็มีทิศทางชะลอตัว แต่การตัดสินใจทั้งหมดขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดใหม่
“อยากให้เข้าใจภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศที่ขณะนี้ชะลอตัวลงด้วย ดังนั้นการพิจารณาดำเนินการเรื่องนี้ต้องดูสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจด้วย โดยการตัดสินใจเรื่องนี้เป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง ไม่ใช่ระดับข้าราชการ” นายเอกนิติ กล่าว