ยาคูลท์ขายอะไรมากกว่าที่คุณคิด
นมเปรี้ยวสีเหลืองอมส้มอยู่ในขวดพลาสติกไซส์อมตะขนาด 80 มิลลิลิตร ถูกปิดฝาด้วยฟอยล์สีฟ้าสามารถดึงออกเพื่อดื่มได้ง่าย เป็นสินค้าที่มีอายุมานานถึง 80 ปี ถูกจำหน่ายในลักษณะส่งตรงถึงบ้านด้วยผู้หญิงที่ใส่ยูนิฟอร์มพร้อมกระเป๋าสะพายที่อัดแน่นด้วยสินค้าคับคุณภาพ
ใช่แล้ว! เรากำลังพูดถึง “ยาคูลท์” ที่อยู่คู่คนไทยและทั่วโลกมานานหลายสิบปี
เมื่อพูดถึงยาคูลท์ คนส่วนใหญ่จะนึกถึงนมเปรี้ยวใช่มั้ย? แต่ที่จริงแล้วยาคูลท์ไม่ได้ขายนมเปรี้ยวนะ
อ่าว…แล้วยาคูลท์ขายอะไรล่ะ ถ้าไม่ได้ขายนมเปรี้ยว? Sanook! Money มีคำตอบมาฝากกัน
รู้จัก “ยาคูลท์” เปี่ยมด้วยจุลินทรีย์สายพันธุ์ชิโรต้า
เราจะพาคุณเดินทางไปที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นกำเนิดอาณาจักรยาคูลท์เมื่อปี 2478 เพื่อทำความรู้จักกับยาคูลท์ให้มากขึ้น
จุดเริ่มต้นมาจากเมื่อปี 2473 ดร.มิโนรุ ชิโรต้า เป็นผู้ประสบความสำเร็จและเป็นคนแรกของโลก ที่ค้นพบจุลินทรีย์กรดนมในลำไส้ที่ทนต่อกรด-ด่างในร่างกายมนุษย์ และมีชีวิตอยู่รอดในลำไส้ได้ คือ แลคโตบาซิลลัส คาเซอิ สายพันธุ์ ชิโรต้า หรือจุลินทรีย์ชิโรต้า และมีแนวคิดที่จะให้ทุกคนได้รับจุลินทรีย์ที่มีดี มีประโยชน์ต่อร่างกายด้วยการนำมาทำเป็นเครื่องดื่มที่ชื่อว่า “ยาคูลท์” เป็นภาษาเอสเปอแรนโต (ภาษาสากล) มีความหมายว่าโยเกิร์ต แปลว่า การมีอายุยืนยาว จากนั้นเป็นต้นมา ยาคูลท์ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2478 เป็นต้นมา
ส่วนจุลินทรีย์ชิโรต้าจะทำงานอย่างไรนั้น ต้องบอกว่าจุลินทรีย์ดังกล่าวจะเข้าไปช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ ยับยั้งการเจริญเติบโตและหยุดการสร้างสารพิษของแบคทีเรียก่อโรค ลดอาการท้องผูก-ท้องเสีย ที่สำคัญจุลินทรีย์ชิโรต้าสามารถแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้นได้อีกด้วย
ลองคิดดูหากร่างกายเรามีจุลินทรีย์ชนิดดีที่ช่วยรักษาสมดุลในร่างกาย ดูแลระบบภูมิคุ้มกัน ลดโอกาสการติดเชื้อในร่างกายได้จะดีขนาดไหน?
อาณาจักรยาคูลท์ไม่ได้ขายแค่ “นมเปรี้ยว” อย่างเดียว
นอกจากยาคูลท์จะมีนมเปรี้ยวที่มีส่วนผสมของจุลินทรีย์สายพันธุ์ชิโรต้าเป็นตัวชูโรงแล้ว ยาคูลท์ได้แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ในหลายรูปแบบด้วย ไม่ว่าจะเป็น โยเกิร์ต, เครื่องดื่ม, เครื่องสำอาง ยา และอื่นๆ โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยพัฒนา ต่อยอดรูปแบบผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น ให้มีความหลากหลายตอบโจทย์ทั้งการเก็บรักษา การขนส่ง และความต้องการของผู้บริโภค
สำหรับโรงงานผลิตยาคูลท์ในประเทศญี่ปุ่นมีทั้งหมด 12 แห่ง ครอบคลุมทั่วประเทศ กำลังการผลิตสินค้ายาคูลท์ต่อวันจะอยู่ที่ 1,200,000 ชิ้น โดยโรงงานจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1.โรงงานผลิตยาคูลท์
- โรงงานผลิตนมเปรี้ยว 5 แห่ง
- โรงงานผลิตเครื่องสำอาง 1 แห่ง
- โรงงานผลิตยา 1 แห่ง
2.โรงงานผลิตขวดยาคูลท์ มี 5 แห่ง
ซึ่งหนึ่งในนั้นมีฐานการผลิตอยู่ใกล้กับภูเขาไฟฟูจิ โดยเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญในโรงงานบอกถึงสาเหตุของการตั้งโรงงานแห่งนี้เพราะสามารถเข้าถึงน้ำแร่ที่ดีรวมถึงมีพื้นที่กว้างขวางเหมาะสม
ยาคูลท์ในญี่ปุ่นมีสินค้าที่หลากหลาย แต่สงสัยใช่มั้ยว่าสินค้าประเภทไหนขายดีที่สุด ข้อมูลจากยาคูลท์เมื่อปี 2018 ระบุว่า ยอดขายยาคูลท์ทั่วโลกมีอยู่ 407,000 ล้านเยน หรือราว 117,292 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- ยอดขายยาคูลท์ในญี่ปุ่น 56.2% (นมเปรี้ยว&เครื่องดื่ม, ยา และอื่นๆ)
- ยอดขายยาคูลท์ทั่วโลก 43.8% (นมเปรี้ยว และเครื่องดื่ม)
นอกจากนี้ เรายังได้ตรวจสอบยอดขายยาคูลท์ในญี่ปุ่นที่มีสัดส่วน 56.2% จากเว็บไซต์ยาคูลท์ประเทศญี่ปุ่น1 ได้รายงานงบการเงินประจำปี 2018 (สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2019) พบว่า บริษัทยาคูลท์มียอดขายตลอดทั้งปีอยู่ที่ 179,430 ล้านเยน หรือราว 51,707 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2018 ที่มีอยู่ 177,535 ล้านเยน หรือราว 51,161 ล้านบาท คิดเป็น 1.1% โดยประเภทของสินค้ายาคูลท์แต่ละรายการมียอดขายดังนี้
เห็นได้ว่าสินค้ายาคูลท์ประเภทนมเปรี้ยวก็ยังกินสัดส่วนตลาดมากเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นเครื่องดื่ม และอื่นๆ ตามลำดับ
แม้วันนี้ยาคูลท์ในต่างประเทศจะมีเฉพาะนมเปรี้ยวอย่างเดียว แต่อีกไม่นานเราอาจจะได้เห็นยาคูลท์ไลน์สินค้าอื่นๆ จำหน่ายในบ้านเรารวมถึงในต่างประเทศอีกด้วย
สาวยาคูลท์รูปแบบการขายที่มากกว่าความเป็นมิตร
“อยากรู้เรื่องยาคูลท์ ถามสาวยาคูลท์ดูสิคะ” สโลแกนนี้คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินอย่างแน่นอน โดยระบบการขายของสาวยาคูลท์เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1963 ที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะต้องสร้างความเข้าใจ หรืออธิบายถึงคุณประโยชน์ของยาคูลท์ ส่วนสาเหตุที่ไม่ใช้หนุ่มยาคูลท์เนื่องจากปี 1960-1970 ผู้ชายมักจะออกไปทำงาน ส่วนผู้หญิงจะอยู่บ้านเลี้ยงลูก และการจะผลักดันให้มีหนุ่มยาคูลท์ไปส่งของถึงบ้านที่มีเพียงผู้หญิงและเด็กก็คงไม่เหมาะสม ที่สำคัญอาชีพสาวยาคูลท์เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้หญิงมีงานทำด้วย
การจะเป็นสาวยาคูลท์ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะจะต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ซึ่งในแต่ละเดือนจะต้องตั้งเป้าหาลูกค้ารายใหม่ โดยจะไม่เน้นการขายของ (Hard Sale) แต่จะเน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสาวยาคูลท์กับลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้ายาคูลท์ญี่ปุ่นจะอยู่ในช่วง 50-60 ปี และเป็นลูกค้าที่คุ้นเคยและรู้จัก ทุกครั้งที่สาวยาคูลท์ไปส่งของให้ก็จะพูดคุยเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
ปัจจุบัน สาวยาคูลท์สาวยาคูลท์ในญี่ปุ่นมี 33,848 คน อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 43.9 ปี ประสบการณ์การขายมีตั้งแต่ 7 เดือน – 9 ปี ทุกครั้งที่สาวยูลท์จะออกไปส่งของให้ลูกค้าจะต้องเข้ามารับของที่ศูนย์ยาคูลท์ (Yakult Center) ซึ่งเป็นที่กระจายสินค้าและฝึกอบรม มีทั้งหมด 2,448 แห่งทั่วประเทศ ส่วนการขนส่งของสาวยาคูลท์จะมี 4 รูปแบบ ดังนี้
- รถยนต์ 41%
- มอเตอร์ไซค์ 33%
- จักรยาน 19%
- อื่นๆ 6%
แม้ว่ายาคูลท์ญี่ปุ่นจะขยายอาณาจักรไป 38 ประเทศทั่วโลกแล้ว มีเพียง 13 ประเทศเท่านั้นที่มีสาวยาคูลท์ให้บริการโดยมีจำนวนทั้งสิ้น 81,117 คน ส่วนยอดขายยาคูลท์ต่อวันอยู่ที่ 40 ล้านขวด (ข้อมูลปี 2018)
ดังนั้น จำนวนสาวยาคูลท์ทั่วโลกเป็นตัวการันตีว่าแบรนด์ยาคูลท์ได้สร้างอาชีพ-รายได้ให้ผู้หญิงไปมากกว่า 80,000 คนเชียวนะ
ยาคูลท์คุณประโยชน์ที่เด็กๆ หลงรัก และใช้รักษาผู้ป่วยในสถานพยาบาล
แน่นอนว่าเป้าหมายหลักของ ดร.มิโนรุ ชิโรต้า ผู้ก่อตั้งยาคูลท์ คืออยากเห็นทุกคนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ได้รับจุลินทรีย์ที่ดีและมีประโยชน์เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันต่อสู้กับโรคร้ายในอนาคต การมอบและส่งต่อยาคูลท์ให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนถือเป็นหัวใจสำคัญของ ดร.มิโนรุ ชิโรต้า ด้วยเช่นกัน ซึ่งโรงเรียน Shibuya Honmachi Gakuen เป็นหนึ่งในโรงเรียนรัฐบาลที่ให้ความสำคัญด้านโภชนาการที่สมบูรณ์ โดยทางโรงเรียนจะจัดเวรให้เด็กๆ เสิร์ฟอาหารมื้อเที่ยงให้กับเพื่อนร่วมชั้นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมทั้งระเบียบวินัย มารยาท และการรักษาความสะอาด ที่สำคัญความพิเศษของอาหารในมื้อเที่ยงก็เป็นการการันตีได้ว่าเด็กๆ จะได้ทานอาหารที่ครบ 5 หมู่จากวัตถุดิบตามฤดู และบางวันยังได้รับยาคูลท์เป็นของแถมพิเศษด้วย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อลำไส้ในร่างกายของพวกเขา เพราะประโยชน์ของยาคูลท์จะเข้าไปรักษาระดับแบคทีเรียของลำไส้ และช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ดีขึ้น
นอกจากยาคูลท์จะถูกนำไปจัดในชุดอาหารมื้อกลางวันที่โรงเรียนแล้ว ยาคูลท์ยังถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาลอีกด้วย โดย Tokyo Medical and dental University’s Affiliated Hospital เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่นำยาคูลท์มาช่วยในการรักษาสุขภาพลำไส้ของผู้ป่วยได้ดี
โดยเหตุผลที่ทางโรงพยาบาลแห่งนี้เลือกยาคูลท์มาใช้รักษาผู้ป่วย เพราะช่วยลดการท้องเสียท้องผูก ช่วยพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ที่สำคัญให้คุณค่าทางอาหารที่เหมาะสม ป้องกันการติดเชื้อ อีกทั้งใช้ยาคูลท์ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยไม่มีผลข้างเคียงได้อีกด้วย
โดยสาเหตุของการเลือกใช้ยาคูลท์ของโรงพยาบาลแห่งนี้สอดคล้องกับผลการรายงานเรื่องกรดแลคติกกับระบบภูมิคุ้มกัน ของรองศาสตร์จารย์ คาซึโยชิ ทาเคะดะ จากมหาวิทยาลัยจุนเท็นโด ที่ระบุว่า โพรไบโอติกส์ (Probiotics) หรืออาหารเสริมที่มีแบคทีเรีย หรือจุลินทรีย์ที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งจุลินทรีย์สายพันธุ์ชิโรต้า ถือเป็นหนึ่งในโพรไบโอติกที่ได้รับการถูกคัดเลือก เมื่อร่างกายได้รับโพรไบโอติกส์เข้าไปจะช่วยรักษาความสมดุลในร่างกาย และในกรณีที่คนๆ นั้น มีปริมาณเซลล์ต่อสู้มะเร็ง (NK Cell) ที่ค่อนข้างต่ำ ตัวโพรไบโอติกส์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเซลล์ต่อสู้มะเร็งนั้นมากยิ่งขึ้น
สรุปแล้ว ยาคูลท์ไม่ได้ขายนมเปรี้ยว หรือความอร่อย แต่ขายจุลินทรีย์สายพันธุ์ชิโรต้า ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ที่ช่วยรักษาสมดุลในร่างกายและป้องกันการเกิดโรคร้ายในอนาคต