ประกันสังคม ชี้จ่ายแค่ 432 บาท ก็เป็นผู้ประกันตนในระบบได้
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เผยว่า สำนักงานประกันสังคมให้ความคุ้มครองลูกจ้าง แม้จะออกจากงานไปแล้ว ซึ่งลูกจ้างกลุ่มนี้เรียกว่า “ผู้ประกันตนภาคสมัครใจมาตรา 39” โดยผู้ที่จะสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 จะต้องเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และลาออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน จึงจะสมัครมาตรา 39 ได้ สำหรับการสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถทำได้โดยสมัครได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขาที่สะดวก ใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวมาสมัคร
หากได้รับการอนุมัติการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้รับสิทธิประโยชน์ และความคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมใน 6 กรณี ดังนี้
- สิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย
- ทุพพลภาพ
- คลอดบุตร
- สงเคราะห์บุตร
- ชราภาพ (บำเหน็จหรือบำนาญชราภาพ)
- กรณีเสียชีวิต
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนจะต้องชำระเงินสมทบเดือนละ 432 บาท ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติให้กลับเป็นผู้ประกันตน โดยจ่ายเงินสมทบได้หลายช่องทางด้วยกัน คือ จ่ายด้วยเงินสด ณ สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
นอกจากนี้ ยังสามารถชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์หน่วยบริการ ได้แก่ เคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-Eleven) ที่ทำการไปรษณีย์ เซ็นเพย์ บิ๊กซี รวมถึงเทสโก้ โลตัส อีกทั้งยังสามารถจ่ายเงินสมทบโดยวิธีหักบัญชีเงินฝากธนาคาร 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
เพื่อป้องกันการสิ้นสภาพของผู้ประกันตนมาตรา 39 จึงขอให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 ตระหนักในสิทธิของตนเอง โดยให้ความสำคัญในการนำส่งและตรวจสอบการนำส่งเงินสมทบกับสำนักงานประกันสังคมอย่างเสมอ
ทั้งนี้ ควรนำส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง หากผู้ประกันตนขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน จะสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน
หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์หรือตรวจสอบสิทธิตามมาตรา 39 เพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขาที่สะดวก