ทำไมค่าเงินบาทแข็งเป็นประวัติการณ์ ?

ทำไมค่าเงินบาทแข็งเป็นประวัติการณ์ ?

ทำไมค่าเงินบาทแข็งเป็นประวัติการณ์ ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฉบับย่อ

  • ค่าเงินบาทช่วงนี้แข็งอย่างต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ เพราะเงินบาทถูกมองว่าเป็น Safe-Haven แทนที่ดอลลาร์และเยน เนื่องจากบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง
  • ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ มีหน้าที่หลัก คือ การควบคุมกำกับดูแลให้ตลาดเงินมีเสถียรภาพเท่านั้น ไม่ใช่การแทรกแซงหรือกำหนดทิศทางของค่าเงินบาท
  • ผู้ส่งออกไม่ได้ขาดทุนในมุมที่ว่า ขายของไม่ได้ แต่ขาดทุนในเชิงที่ขายของได้เท่าเดิม แต่เวลาแลกเงินกลับมาเป็นเงินบาทได้น้อยลง
  • การทำธุรกิจสามารถบริหารความเสี่ยงเรื่องค่าเงินได้ อาจจะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้นแต่ก็ช่วยลดความเสี่ยงได้มหาศาล

ช่วงนี้ถ้าใครที่กำลังจะไปเที่ยวต่างประเทศจะรู้สึกมีความสุข เพราะเหมือนได้ส่วนลดการเที่ยวที่ถูกลง เนื่องจากว่าค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์เลยเกือบ ๆ จะหลุด 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์อยู่แล้วทั้งๆ ที่ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ เดินทางไปเจรจากับจีนและดูเหมือนจะมีทางออกสวยๆ จูบปากกันอย่างหวานชื่นซะอย่างงั้น

แถมแวะไปเยี่ยม คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนืออีกต่างหาก ตอนแรกพี่ทุยก็คิดว่าเงินน่าจะไหลกลับไปที่อเมริกาบางส่วนถ้าปัญหามันคลี่คลายลง ค่าเงินบาทก็น่าจะอ่อนลงบ้างแหละ แต่กลับแข็งค่าต่อเนื่องพี่ทุยเลยแอบตกใจผสมกับความงง

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงจะสงสัยว่าทำไมพี่ทุยถึงคิดว่าการที่อเมริกาคุยกับจีนจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง บทความนี้พี่ทุยจะมาเล่าให้ฟังว่า ทำไมเงินค่าเงินบาทถึงแข็งในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้พอค่าเงินบาทไทยแข็งเราก็มักเห็นตามข่าวว่าผู้ส่งออกออกมาเรียกร้อง กดดันให้ แบงก์ชาติช่วยดูแลค่าเงิน บางรายถึงกับบอกว่าส่งออกไม่ได้แล้วก็มีเรามาดูความเป็นจริงกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง

จริงๆ แล้วในช่วงที่ผ่านมา พี่ทุยมองว่าภาวะการเงินในตลาดโลกค่อนข้างผันผวนเลยนะ แถมความมั่นคงยังไม่ค่อยมีอีกด้วย ซึ่งสามารถดูได้ง่ายๆ เลยจากการที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ มีทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่ค่อนข้างแตกต่างกัน บางประเทศก็ให้ขึ้นดอกเบี้ย บางประเทศก็จะให้ลดดอกเบี้ย พี่ทุยอยากจะให้ลองนึกภาพง่าย ๆ ว่าดอกเบี้ยมันก็เหมือนกำไรของเงินให้ขึ้นดอกเบี้ยเงินก็ไหลเข้าประเทศ ถ้าลดดอกเบี้ยเงินก็ไหลออกนอกประเทศ

ทีนี้พอแต่ละประเทศให้ไม่เหมือนกัน เงินมันก็เลยวิ่งไปวิ่งมาตลาดการเงินมันก็เลยผันผวนนั่นเอง พอตลาดการเงินมันผันผวนไม่มั่นคงมีความเสี่ยง สิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่ทำก็คือ การลดความเสี่ยงลงโดยการปรับพอร์ต ปรับสัดส่วนการลงทุน
ลดพวกที่มีความเสี่ยงสูง ๆ ไปถือครองพวกที่ปลอดภัยมากกว่าการกระทำแบบนี้เราเรียกว่า Risk-off

เท่านั้นยังไม่พอ คือโดยปกติแล้ว พอนักลงทุน Risk-off เขามักจะไปถือทองคำหรือสินทรัพย์ของสกุลเงินที่มันปลอดภัย เช่น Bond ระยะสั้นของญี่ปุ่นหรือของสวิตเซอร์แลนด์ที่มันมีเสถียรภาพสูงมีพื้นฐานเศรษฐกิจดี หรือวิธีที่ง่ายกว่านั้น คือ ถือดอลลาร์สหรัฐฯไปเลยแล้วกัน ไหนๆ ก็เป็นสกุลเงินที่ใช้กันทั่วโลกอยู่แล้ว ทั้งการลงทุนซื้อขายและการเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ แต่ในครั้งนี้มันไม่ได้เป็นเหมือนปกติ เนื่องจากตัวที่มันมีปัญหามีความเสี่ยงกลับกลายเป็นดอลลาร์เอง หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่นที่ประสบปัญหา Aging Society อย่างรุนแรง มันเลยทำให้นักลงทุนต้องมองหา Safe-Haven แหล่งใหม่ หรือเรียกง่ายๆ ว่าที่พักเงินนั่นแหละ หวยก็เลยมาตกประเทศไทยเรา

ประเทศไทยเรานับว่าอยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets: EMs) ซึ่งโดยเปรียบเทียบแล้วประเทศในกลุ่ม EMs เมื่อลงทุนแล้วจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว นอกจากนี้ต่างชาติยังมองว่าไทยเราเป็น Safe-Haven ชั้นยอดเลย เนื่องจากไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี สังเกตได้จากบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง พอเกินดุลก็เหมือนว่าเราทำการค้าแล้วได้กำไรต่อเนื่อง

และยังมีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพี่ทุยอยากบอกเพิ่มเติมว่า เงินทุนประเภท FDI เวลาไหลเข้ามาก็จะมาลงทุนแบบทำโรงงานทำธุรกิจจริงๆ จะไหลเข้ามาแล้วไม่ได้ออกไปไหนทำให้ประเทศไทยยังคงมีเสถียรภาพอยู่ไม่เหมือนพวกเงินที่มาผ่านตลาดการเงิน พวกนั้นมันเรียกว่า Hot Money เข้าง่ายออกง่าย พอออกไปที ตลาดหุ้นบ้านเรานี่แดงเป็นแถว

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังนับว่าเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่มีความผันผวนค่อนข้างน้อยเหมือนเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งความผันผวนน้อยมันก็ทำให้คนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจชาวบ้านที่จะไปท่องเที่ยววางแผนอะไรได้ง่าย นับว่าเป็นข้อดีมากๆ

พอมันเป็นแบบนี้ไทยเราเป็น Safe-Haven ชั้นยอดเงินมันก็ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และการที่นักลงทุนจะเอาเงินเข้ามาลงทุนในไทยมันเลยทำให้ความต้องการเงินบาทเยอะขึ้น พอต้องการเยอะ ๆ เงินบาทมันก็เลยแข็งค่าขึ้นนั่นเอง ตามหลักของ Demand & Supply โดยตอนนี้ค่าแข็งมากสุดในรอบ 6 ปีแล้ว

มาถึงตอนนี้พี่ทุยก็เห็นว่ามีหลายฝ่ายออกมาบอกว่าส่งออกไม่ได้เลยออกมาบอกว่าให้แบงก์ชาติช่วยดูแลค่าเงินหน่อย จริงๆ แล้วพี่ทุยต้องบอกว่าหน้าที่ของแบงก์ชาติ คือ ควบคุมให้มีเสถียรภาพหรือไม่ให้ผันผวนจนเกินไปเท่านั้น เวลาค่าเงินจะแข็งจะอ่อนให้ค่อยๆ ปรับจะได้เตรียมรับมือกันทัน ไม่ได้มีหน้าที่กำหนดทิศทางอย่างที่หลายคนเข้าใจ ค่าเงินก็เป็นไปตามกลไกราคาการจะไปฝืนตลาดก็เหมือนการแทรกแซงตลาดอย่างรุนแรง แล้วปัจจัยที่กระทบค่าเงินรอบนี้มาจากต่างประเทศทั้งนั้นเลย การควบคุมก็จะยิ่งทำได้ยากขึ้นไปอีก

แล้วถ้าเรามาคุยในเชิงทฤษฎีแล้ว เวลาที่ค่าเงินแข็งก็จะเปรียบเสมือนราคาสินค้าเราแพงขึ้น ของแพงก็ขายไม่ออกกลับกันหากค่าเงินอ่อนเหมือนของเราถูกลงเราก็จะขายดีขึ้น สำหรับพี่ทุยแล้วทฤษฎีมันก็ถูกต้องนะ แต่ “สินค้าต้องเหมือนกัน” แบบทดแทนได้ 100%

ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงสินค้าไม่ได้เหมือนกันนะ ส่วนตัวพี่ทุยมองว่าในปัจจุบันหมดยุคที่แข่งกันที่ราคาแล้ว หากเรามาดูข้อมูลในอดีตจะพบว่าในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างปี 2552 การส่งออกเราก็ติดลบนะ หรือกลับกันในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งๆ 2 ปีก่อนช่วงปี 2560 ส่งออกเราก็ขยายตัวดีนะ ไม่ได้ส่งออกไม่ได้แต่อย่างใด พี่ทุยจึงอยากจะบอกว่าการส่งออกจะดีหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่เรื่องค่าเงินหรอกมันขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นอีก เช่น ความสามารถในการแข่งขัน ระดับเทคโนโลยี และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า

778829

นอกจากนี้พี่ทุยอยากเอาสถิติอีกตัวให้ดูเพื่อยืนยันว่า “ที่มีคนบ่นว่าค่าเงินบาทที่แข็งส่งออกไม่ได้ ต่างชาติมองว่าของแพง” วาทกรรมนี้ต้องบอกว่าไม่จริงเลย เนื่องจากว่าสกุลดอลลาร์เป็นสกุลเงินที่เราใช้ชำระค่าสินค้ากันเกือบ 80% ของธุรกรรมทั้งหมด ทั้งที่เราค้าขายกับสหรัฐฯ ไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ มันหมายถึงว่า แม้เราจะขายค้ากับประเทศอื่นๆ เราก็ตั้งราคาเป็นดอลลาร์อยู่ดี ไม่ได้ตั้งราคาเป็นบาท นั่นแปลว่าต่างชาติไม่ได้รับผลกระทบจากที่ค่าเงินบาทแข็งแล้วทำให้ซื้อของน้อยลง

“แต่ที่หลายคนคงยังออกมาบ่นเวลาค่าเงินบาทแข็ง ไม่ใช่เพราะขายออกไม่ได้ แต่เป็นเพราะเวลาขายของได้แล้ว แลกกลับมาเป็นรูปเงินบาทแล้วได้เงินน้อยลง”

 

เพราะเวลาบริษัทพวกนี้แปลงกลับมาทีมูลค่าหายเป็นพันล้านบาทก็มีพอบริษัทพวกนี้กำไรหาย การจ้างงานและค่าจ้างแรงงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็มีแนวโน้มที่จะลดลง ก็เลยทำให้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอลงเหมือนกัน

833734

แต่ยังไงก็ตาม ตอนที่ค่าเงินแข็งก็ไม่ได้แย่เสมอไปหรอกนะ เพราะก็มีกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์เหมือนกัน เช่น ผู้นำเข้าก็สามารถซื้อสินค้า ซื้อวัตถุดิบได้ในราคาที่ถูกลง อันนี้พี่ทุยว่าถูกลงแน่ๆ เพราะเวลาไปซื้อจากต่างชาติยังไงเขาก็ตั้งราคาเป็นดอลลาร์ซะส่วนใหญ่ เราก็ใช้เงินบาทน้อยลงในการซื้อ รวมถึงคนทั่วๆ ไปด้วย เวลาจะซื้อสินค้าจากต่างประเทศ หรือคนที่กำลังเตรียมตัวเดินทางไปเที่ยวจะได้ Pocket Money เพิ่มขึ้นอีกแน่นอน หรือแม้กระทั่งบริษัทต่างๆ ที่ต้องการซื้อเครื่องจักรจากเมืองนอก พี่ทุยว่าจังหวะนี้แหละเป็นโอกาสอันดีเลยที่จะยกเครื่องโรงงานใหม่

ดังนั้นโดยสรุปพี่ทุยอยากจะบอกว่า ค่าเงินบาทที่แข็งมันขึ้นอยู่กับเหตุการณ์โลกมันเป็นกลไกตลาดไม่สามารถฝืนได้นานๆ หรอก ในอดีตเราก็เคยแทรกแซงจนพังกันไม่เป็นท่ามาแล้ว ตอนนี้พี่ทุยว่าแค่ทำให้ไม่ผันผวนมากจนเกินไปก็ใช้ได้แล้วล่ะ

นอกจากนี้ ค่าเงินที่แข็งไม่ได้ส่งผลทางราคากับชาวต่างชาติเท่าไหร่หรอก เนื่องจากเราตั้งราคาเป็นดอลลาร์อยู่แล้ว แต่มันจะมีผลเวลาแปลงค่าเงินกลับมาจะทำให้ได้เงินบาทน้อยลงเลยส่งผลเศรษฐกิจซบเซาไปด้วย พี่ทุยคิดว่าอัตราแลกเปลี่ยนก็นับเป็นความเสี่ยงรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน หากเราทำธุรกิจจริง ๆ เราไม่ควรที่จะเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน พี่ทุยแนะนำให้บริหารความเสี่ยงมากกว่า แล้วเดี๋ยวนี้ก็มีผลิตภัณฑ์มากมายให้เราได้เลือกกัน หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ
เช่น การใช้สกุลเงินท้องถิ่น แม้การกระทำพวกนี้จะทำให้ต้นทุนมันสูงขึ้น แต่พี่ทุยก็เชื่อว่ามันสามารถทำให้เราคำนวณต้นทุนได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และที่สำคัญปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook