นั่งฟรี 1 สถานี ช่วงหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว เริ่ม 9 ส.ค.นี้ คาด 2 เดือนรู้ผลค่าตั๋วบีทีเอส
ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (เหนือ) ช่วงหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าวขณะนี้ เสร็จสิ้นไปแล้วกว่า 99.99% โดยจะเปิดให้บริการฟรีใน 1 สถานีเริ่มวันที่ 9 สิงหาคมนี้ เนื่องจากประชาชนบริเวณห้าแยกลาดพร้าวมีความแออัดและมีความต้องการใช้ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสค่อนข้างสูง
รถไฟฟ้าสีเขียว (เหนือ) หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เปิดเต็มสูบปลายปี 63
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า บีทีเอสจะทดสอบการเดินรถไฟฟ้า ตั้งแต่สถานีหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว เพียง 1 สถานี ในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ คาดว่ามีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 70,000 – 80,000 เที่ยวคนต่อวัน และปลายปี 2562 จะเปิดถึงแยกเกษตร พร้อมคาดว่าจะเปิดให้บริการตลอดสายถึงสถานีคูคตในปลายปี 2563
ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ 100 % ขณะนี้อยู่ในส่วนการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้า คืบหน้าแล้ว 70-80% ซึ่งจะพร้อมเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง ภายในปี 2563 จากแผนเดิมจะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2564 นี้
บีทีเอาจัดให้! ขึ้นฟรี 1 สถานี หมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTS) บอกว่า ช่วงหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว จะเปิดให้ผู้โดยสารขึ้นฟรีจนกว่าจะได้ข้อสรุปจากคณะกรรมการเจรจากับบีทีเอสถึงอัตราค่าโดยสารคาดจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้
ส่วนรูปแบบการเดินรถ 1 สถานี จะแบ่งระยะเวลา การให้บริการ 2 ช่วง คือ ช่วงเวลาเร่งด่วน (Peak) เช้าและเย็น ตั้งแต่เวลา 07.00 - 09.00 น. และตั้งแต่เวลา 17.00 -19.00 น. จะเดินรถต่อจากสถานีหมอชิต ไปสถานีห้าแยกลาดพร้าว โดยขบวนรถจะเดินรถรูปแบบขบวนเว้นขบวน คือขบวนหนึ่งวิ่งสิ้นสุดที่ปลายทางหมอชิต อีกขบวนจะวิ่ง ไปยังสถานีห้าแยกลาดพร้าว ส่วนในช่วงนอกเวลาเร่งด่วน (Off peak) จะให้บริการถึงสถานีห้าแยกลาดพร้าวได้เลย คาดว่าผู้ใช้บริการช่วงแรกจะเป็นผู้โดยสารกลุ่มเดิมที่เมื่อก่อนเคยใช้สถานีหมอชิตซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรบริเวณถนนพหลโยธินได้
กทม. รับจ่อเหมาสัมปทานยกรถไฟฟ้าให้บีทีเอส 40 ปี พร้อมเงื่อนไขพิเศษ ลั่นค่าโดยสารต้องไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย
นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เผยถึงความคืบหน้าการบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเจรจากับบีทีเอสตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยฝ่ายนโยบายวางกรอบเจรจาภายใน 90 วัน หลังจากที่ได้ประชุมร่วมกับเอกชนมา 2 ครั้งแล้ว
ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับผู้เดินรถรายเดิมคือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส ถึงความเป็นไปได้ในการต่อขยายสัมปทานเดินรถทั้ง 2 สัญญาออกไปอีก 30 ปี คือ
- สัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-อ่อนนุชและช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน
- สัมปทานเดินรถส่วนต่อขยาย ช่วงอ่อนนุช-แบริ่งและสะพานตากสิน-บางหว้า
โดยจะเริ่มนับสัญญาสัมปทานในปีแรกคือ ปี 2573 และหมดสัญญาในปี 2603 รวมระยะเวลาจากปัจจุบันทั้งสิ้น 40 ปี โดยมีข้อแลกเปลี่ยน 3 ข้อ
- ค่าโดยสารตลอดสายต้องไม่เกิน 65 บาท เช่น คูคต-สมุทรปราการ เป็นประเด็นที่เอกชนยังไม่ยอมรับ พร้อมให้กทม.ช่วยรับภาระค่าโดยสารที่เกินกว่าต้นทุน (Subsidy)
- บีทีเอสต้องรับภาระทรัพย์สิน-หนี้สิน-ดอกเบี้ย โครงการช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่ - คูคต รวมวงเงินทั้งสิ้น 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้สาธารณะของประเทศแล้ว เอกชนจำเป็นต้องไปจ่ายคืนให้กับกระทรวงการคลัง
- ลงทุนค่าติดตั้งอาณัติสัญญาณในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท
ที่สำคัญเงื่อนไขการเจรจาคือค่าโดยสารต้องไม่เกิน 65 บาท ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เพื่อความสะดวกสบายของประชาชน
กทม. เล็งควัก 1,000 ล้านบาท ให้เอกชน และออก KPI-เข้มลงโทษแก้รถไฟฟ้าห่วย
สำหรับเงื่อนไขการ Subsidy ค่าโดยสารนั้น นายมานิต ระบุว่า กทม.จะยื่นข้อเสนอรูปแบบค่าอุดหนุนรายปี เพื่อชดเชยกับรายได้ที่ต่ำกว่าต้นทุนการเดินรถ คาดว่าจะค่าชดเชยตกปีละ 1,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณของกทม. ไม่ใช่งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน
ส่วนเรื่องการให้บริการรถไฟฟ้าที่แชร์กันในโลกออนไลน์ เช่น ขบวนรถขัดข้อง และรถเสียบ่อยตอนฝนตก เป็นต้น กทม.ได้พูดคุยในเวทีประชุมเจรจา ดังนั้น ในการร่างสัญญาสัมปทานใหม่นี้จะกำหนดค่าประเมิน KPI ในงานบริการรถไฟฟ้า เช่น แต้มคุณภาพบริการและแต้มความพึงพอใจ เป็นต้น หากต่ำกว่ามาตรฐาน หรือเกิดข้อผิดพลาดเกินกำหนดจะมีโทษปรับที่เพิ่มขึ้นจากสัญญาเดิมแน่นอน โดยจะเก็บข้อมูลคุณภาพของผู้ให้บริการเดินรถแบบ Real Time โดยเซ็นเซอร์จากจุดต่างๆ
ยิ่งกว่านอนยัน! ค่ารถไฟฟ้าไทยเหมาะกับทุกคนในเมือง หลังโลกออนไลน์ดราม่าแพงกว่าเพื่อนบ้าน
ส่วนกรณีที่โลกออนไลน์ได้ยกนำผลการศึกษา TDRI มาระบุว่า ค่ารถไฟฟ้าในไทยแพงประเทศเพื่อนบ้านนั้น นายมานิต บอกว่าเรื่องนี้ถูกนำพูดถึงในวงเจรจาสัมปทานกับผู้เดินรถรายเดิมเช่นกัน แต่ กทม. ยืนยัน ราคา 65 บาท เป็นต้นทุนที่คำนวณมาเหมาะสมกับทุกคนในเมืองหลวงแล้ว อาจมีความเห็นเรื่องราคาต่างกันบ้าง แต่ต้องไม่ลืมว่าแต่ละคนมีฐานะ-ต้นทุนทางสังคมหลายระดับ
ในอนาคตจะมีการนำมูลค่าทางเศรษฐกิจ (EIRR) นำตัวเลขมูลค่าผลประโยชน์ด้านมูลค่าเกี่ยวเนื่องของโครงการมาคิดคำนวณด้วย เช่น รายได้จากค่าธุรกิจสื่อภายในสถานี, รายได้เชิงพาณิชย์จากตัวสถานี และรายได้จากการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทาง ให้เหมือนกับในต่างประเทศ ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่คำนวณต้นทุนค่าโดยสารมาจากต้นทุนเรื่องการเดินรถ-บริหารเพียงอย่างเดียว (IRR) และในอนาคตจะกำหนดให้เอกชนผู้เดินรถต้องนำรายได้นำกลับมาทำประโยชน์ให้สังคมและผู้โดยสารด้วย
ชะลอลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (เหนือ-ใต้) เหตุคนชานเมืองน้อยทำเอกชนเมิน ล้มเงื่อนไขใหม่ทั้งหมด
นายมานิต ยืนยันได้ชะลอการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท คือ
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (ใต้) ช่วงสมุทรปราการ-บางปู เงินลงทุน 37 หมื่นล้านบาท
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือส่วนต่อขยาย (เหนือ) ช่วงคูคต-ลำลูกกา วงเงิน 1.19 หมื่นล้านบาท
โดยมองว่าอาจไม่มีเอกชนสนใจลงทุนเนื่องจากเป็นเส้นทางชานเมืองมีผู้โดยสารไม่มากนัก พร้อมมองว่าภาครัฐควรมีส่วนในการลงทุนด้วย เพราะถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จึงเปลี่ยนเงื่อนไขจากเดิมที่ให้เอกชนเดินรถรายเดิมลงทุนเองทั้งหมด แต่ภาครัฐมีภาระการใช้งบประมาณในหลายด้าน จึงต้องวางแผนพิจารณาโครงการให้เกิดความรอบคอบ